Facebook
Twitter
LINE

 

หลังจากที่เพจแนวคิดพันล้าน เขียนเปรียบเทียบอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

ระหว่างอัตราเก่า 750 บาท และอัตราใหม่สูงสุด 1,000 บาท ที่จะถูกนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้

ทำให้กลายคนเกิดข้อสงสัยที่ว่า…

เงินสมทบกองทุนที่ลูกจ้างถูกหักนำส่งในแต่ละเดือนนั้น รวมแล้วมีมูลค่ามากแค่ไหน?? และถูกนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง??

ในจุดนี้เราลองมาดูข้อมูลไปพร้อมๆ กันเลยครับ

 

กองทุนประกันสังคม มีขนาดใหญ่แค่ไหน??

จากการค้นหาข้อมูลพบว่า…

ปีล่าสุดมีเงินกองทุนประกันสังคมรวม 1,762,095 ล้านบาท (1.7 ล้านล้านบาท) เลยทีเดียว

โดยมีสถานประกอบการขึ้นทะเบียนกว่า 430,000 แห่ง

มียอดผู้ประกันตนทั่วประเทศรวม 14 ล้านคน

แบ่งเป็นเพศชายประมาณ 6.6 ล้านคน เพศหญิง 7.3 ล้านคน

 

ค่าใช่จ่ายของเงินกองทุนประกันสังคม??

แม้จะมีเงินกองทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่น้อยเช่นกัน

รายละเอียดค่าใช้จ่าย ผมขอยึดข้อมูลปี 2559  (เพราะลองดูในเว็บประกันสังคม ยังไม่มีรายงานปี 2560 ออกมานะครับ)

ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่ารักษาพยาบาล ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์ทั้งปี 39 ล้านครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท

รองลงมาคือเงินบำนาญชราภาพ 9,000 ล้านบาท

ค่าคลอดบุตร 7,000 ล้านบาท

เงินชดเชยกรณีว่างงาน 6,500 ล้านบาท

สรุปรวมแล้ว กองทุนประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์รวมปีละประมาณ 73,000 ล้านบาท

ยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวม 10,000 ล้าน

นั่นทำให้มีค่าใช้จ่ายรายปีประมาณ 80,000 ล้านบาทเลยทีเดียว จำตัวเลขนี้กันไว้ก่อนนะครับ

 

เราดูรายจ่ายไปแล้ว เรามาดูส่วนของรายได้กันบ้างนะครับ??

รายได้ของกองทุนประกันสังคม มาจากเงินสมทบที่ลูกจ้างโดนหัก และนายจ้างจ่ายเพิ่มในแต่ละปี 186,000 ล้านบาท

ได้จากค่าดอกเบี้ย และค่าอื่นๆ 53,000 ล้านบาท

รวมแล้ว 241,000 ล้านบาท เป็นจำนวนเงินที่มากทีเดียว

หักลบกันแล้วมากกว่าค่าใช้จ่าย 161,000 บาท หรือเป็นรายได้มากกว่ารายจ่ายเกือบ 3 เท่า!!

 

แต่… แต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้ครับ 

เนื่องจากปี 2557 เป็นต้นมา มีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ให้ผู้ขึ้นทะเบียนที่อายุครบ 55 ปี

มีคนขอใช้สิทธิ์ประมาณ 20,000 คน เป็นเงิน 6,500 ล้านบาท

พอปี 2559 มีคนที่อายุถึงกำหนด ขอใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 28,000 คน เป็นเงิน 9,000 ล้านบาท

 

และคาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีคนที่อายุถึงเกณฑ์เกษียณ ใช้สิทธิ์มากถึง 1,000,000 คน เป็นเงินที่ต้องจ่ายกว่า 250,000 ล้านบาท!!

ตัวเลขคนใช้สิทธิ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ตามสภาพสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เห็นปัญหาแล้วใช่ไหมครับ ว่าอีกไม่นานค่าใช้จ่ายจะมากกว่ารายได้แล้ว

 

สำนักงานประกันสังคมต้องทำยังไง??

วิธีแก้ปัญหาก็คือ

1. ปรับโครงสร้างเงินสมทบใหม่ อย่างในข่าวที่เราเห็นว่าจะเพิ่มจาก 750 ไปเป็น 1,000 บาท

เพราะสำนักงานประกันสังคมลองคำนวณว่าถ้าไม่มีการปรับโครงสร้าง

อีก 30-40 ปี เงินกองทุนจะหมด ไม่สามารถจ่ายได้ แล้วตอนนั้นปัญหามันจะร้ายแรงมาก

และ

2. นำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน ซึ่งกองทุนประกันสังคมทำสิ่งเหล่านี้มาหลายปีแล้ว

 

เงินที่คุณจ่ายไป กองทุนประกันสังคมเอาไปลงทุนอะไรบ้าง??

มาถึงจุดที่หลายคนสงสัยแล้วนะครับ

เงินลงทุนประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ก้อนครับ

ก้อนแรกประมาณ 83% เอาไปลงทุนใน “หลักทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ” เช่น

พันธบัตรรัฐบาล 1.1 ล้านบาท

หุ้นกู้เอกชน 76,000 บาท

เงินฝาก 33,000 ล้านบาท เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ให้ผลตอบแทนต่ำกเช่นกัน

 

ก้อนที่สอง ประมาณ 17% เอาไปลงทุน “หลักทรัพย์ความเสี่ยงสูง”

ได้แก่พวก ตราสารหนี้ หุ้น ทองคำ หรือพวกกองทุนอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งเรามักจะเห็นชื่อของกองทุนประกันสังคม ติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ของหลายบริษัท

เช่น PTT 34 ล้านหุ้น, AOT 161 ล้านหุ้น, CPALL 74 ล้านหุ้น และอีกมากมายนับไม่ถ้วน

 

โดยปี 2560 กองทุนประกันสังคมสรุปผลการบริหาร

มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 1,760,000 ล้านบาท

ซึ่งคิดเป็นกำไรประมาณ 58,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 3.5%

 

เพจแนวคิดพันล้านทำบทความนี้ขึ้นมา โดยไม่มีส่วนได้เสียกับกองทุนประกันสังคมแต่อย่างใดนะครับ

ทั้งหมดก็เพื่อตอบปัญหาคาใจของผมและอีกหลายๆ คน

ที่ต้องการทราบว่าเงิน 750 บาทที่จ่ายสมทบไป ถูกนำไปใช้จ่ายหรือลงทุนในจุดใดบ้าง

หวังว่าจะช่วยคลายข้อสงสัยได้ไม่มากก็น้อยครับ

 

ถ้าอยากจะพูดคุยสอบถามเพิ่มเติม มองว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนเหมาะสม-ไม่เหมาะสมอย่างใด

รวมถึงมีข้อผิดพลาดอะไรในบทความที่อยากจะให้ปรับปรุง ก็คอมเม้นต์มาแลกเปลี่ยนกันได้เลย…

ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับ ^^

 

 

ที่มา:

https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/ecb997fb93dab770b73734587ebefcaf.pdf

http://www.komchadluek.net/news/regional/309711

https://www.sso.go.th/

https://www.set.or.th

moneyhub.in.th/article/social-security-fund-news/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...