Facebook
Twitter
LINE

กัญชา กลายเป็นพืชที่สร้างประเด็นถกเถียงมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่งของโลก

แม้จะมีการให้ถูกกฎหมายในบางประเทศ

แต่อีกหลายๆ ประเทศ ก็ยังไม่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง

เพราะมันเป็นพืชที่ให้ผลได้ทั้ง 2 ด้าน

สามารถใช้สูบเพื่อความบันเทิง จนถึงขั้นมึนเมา

หรือจะใช้ในทางการแพทย์เพื่อการรักษาก็ย่อมได้

เนื่องจากสารที่มีอยู่ในกัญชาอย่าง THC และ CBD นั้น แม้จะมีความคล้ายคลึง แต่ก็มีข้อแตกต่าง

ซึ่งทั้งสองอย่างก็ให้ผลที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น สามารถเรียนรู้ผ่านบทความนี้ครับ…

 

ฟาร์มในแคนาดา ที่มีการปลูกและวิจัยอย่างจริงจัง

 

CBD และ THC คืออะไร??

ในกัญชานั้นมีสารทั้ง 2 ชนิดอยู่ ซึ่งตอนแรกค้นพบ THC ก่อน และภายหลังจึงรู้จัก CBD

คือทั้งสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมากๆ (แต่มันให้ผลลัพธ์ต่างกันนะ)

อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือ ทั้งสองประกอบด้วย คาร์บอน 21 อะตอม ไฮโดรเจน 30 อะตอม และอ็อกซิเจน 2 อะตอม

แต่ที่มันต่างกันก็เพราะ “การเรียงตัวของอะตอม” ไม่เหมือนกัน

คิดภาพง่ายๆ ถ้าใครไม่เข้าใจ

มีบ้านของเล่น 2 หลัง ใช้ตัวต่อแบบเดียวกัน แถมมีจำนวนชิ้นตัวต่อเท่ากัน

แต่ต่อคนละแบบ มันก็เลยออกมาไม่เหมือนกันนั่นเอง

 

ภาพนี้อธิบายได้เข้าใจง่ายมาก

 

เอาล่ะ… เรายกเรื่องของความแตกต่างมันไว้อธิบายทีหลังนะ

กลับเข้ามาที่ความเหมือนกันของ THC และ CBD

ทั้ง 2 สารนี้อยู่ในกลุ่ม “แคนนาบินอยด์” ซึ่งมันไม่ได้มีแต่เฉพาะในกัญชาเท่านั้น

แต่มันมีอยู่ในร่างกายของมนุษย์อยู่แล้วด้วย งงไหม??

 

แต่เจ้า “แคนนาบินอยด์” ในร่างกายของเรานั้น

มันจะทำงานก็ต่อเมื่อผสานเข้ากับ “ตัวรับแคนนาบินอยด์” ในร่างกายเรา

เช่น แคนนาบินอยด์ในสมอง ถ้าร่างกายผลิตมันได้อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้คลายความกังวล ลดความเศร้า

ทีนี้น่าจะพอเข้าใจกันแล้วนะครับ ว่าทำไมมนุษย์สูบกัญชาแล้วจึงได้รับผลของแคนนาบินอยด์

เพราะมนุษย์เราก็ผลิตได้บางส่วน และมีตัวรับอยู่ในร่างกายของทุกๆ คนนั่นเอง

 

ภาพจำลองตัวรอบ CB1 กับการตอบสนองต่อสาร 2 แบบ

 

ความแตกต่างสำคัญของ THC และ CBD

ในอดีต เมื่อมนุษย์รู้จักการสูบกัญชา พวกเขาก็เข้าใจว่ากัญชาทำให้ผ่อนคลายและ “เก็ทไฮ” ได้ตั้งแต่ยังไม่รู้จักสารของมัน

พอภายหลังรู้ว่ามีส่วนประกอบของ THC ก็เริ่มเข้าใจว่าสารนี้แหละทำให้ผ่อนคลาย และยังมีผลต่อระบบประสาท

แต่พอศึกษาไปอีก ก็พบว่ามีสาร CBD อีกตัว ที่ช่วยให้ผ่อนคลายเหมือนกัน แต่สารนี้ไม่ส่งผลให้ “เก็ทไฮ” แต่อย่างใด

ซึ่งพอยิ่งศึกษาต่อไปเรื่อยๆ

ทั้งการเพิ่มโดสของ CBD ให้มากขึ้นไปอีก ก็พบว่าเจ้าสารตัวนี้มันแทบไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายของมนุษย์

แต่ที่มีผลข้างเคียงมันคือ THC ทั้งอาการปากแห้ง กระหายน้ำ หัวใจเต้นเร็ว ตอบสนองช้า ตาแดง หรือความทรงจำลดลง

ล้วนเป็นผลของการได้รับ THC ที่มากเกินไปแทบทั้งสิ้น

 

การพัฒนากัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์

อาการเจ็บป่วยหลายๆ แบบนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยทั้ง THC และ CBD

โดยผมขอแบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ให้เข้าใจง่ายๆ ได้แก่

1. อาการที่เฉพาะสาร THC ช่วยได้

เช่น อาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อกระตุก

2. อาการที่เฉพาะ CBD ช่วยบรรเท่าได้

ได้แก่ ไมเกรน ซึมเศร้า การอักเสบของกล้ามเนื้อ ต้อหิน ลมชัก และอาการทางจิต

3. อาการที่สารทั้ง 2 ช่วยได้เหมือนกัน เช่น ความเจ็บป่วย ความวิตกกังวล

 

เมื่อมีข้อมูลว่าสาร CBD ในกัญชานั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย โดยเฉพาะไม่ทำให้มึนเมา และไม่ส่งผลต่อระบบประสาท

จึงนำไปสู่การพัฒนาสกัดสารดังกล่าวออกมาเพื่อใช้ในทางการแพทย์โดยเฉพาะ

อย่างล่าสุดช่วงเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐ ก็เพิ่งบรรจุให้สารสกัด CBD ยี่ห้อหนึ่ง สามารถบรรเทาอาการลมชักได้ด้วย

 

Epidiolex ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากสหรัฐเมื่อกลางปี (ไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด)

 

และหัวข้อที่สำคัญ จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ…

แคนนาบินอยด์ กับการรักษาโรคมะเร็ง

ต้องบอกก่อนว่า การใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็งไม่ได้หมายถึง สูบกัญชาแล้วเซลล์มะเร็งหายไป

ตรงจุดนี้ยังไม่มีผลการศึกษาและรับรองอย่างแน่ชัด

แต่การฉายรังสีรักษามะเร็งที่เรียกกันว่า “คีโม” นั้น สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยอย่างมาก

จึงมีการใช้ “น้ำมันกัญชา” หรือ “ยาพ่นกัญชา” เพื่อให้สาร CBD ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น

โดยไม่เกิดความมึนเมา ไม่กระทบต่อระบบประสาทของผู้ใช้ในระยะยาวด้วยนั่นเอง

 

ส่วนการรักษามะเร็งโดยตรงนั้น ก็มีการศึกษาวิจัยเช่นกัน

แถมเป็นการใช้สารประกอบแคนนาบินอยด์ที่เรากล่าวถึงนี่แหละ

แคนนาบินอยด์ตัวนี้มีชื่อว่า Cannabigerol ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่ให้ผลในเรื่องของการรักษาต้อหิน

การทดลองในแล็บพบว่า สารตัวนี้มีศักยภาพในการบำบัดโรงมะเร็งหลายชนิด

(ต้นฉบับนั้นยกตัวอย่าง มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน มะเร็งผิวหนัง มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งลำไส้ใหญ่)

ซึ่งหากมีการวิจัยมากขึ้นในอนาคต อาจจะเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้สารประกอบตัวนี้

เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกในการบำบัดมะเร็งได้ดีกว่าเดิม

 

 

ตัวอย่างของร้านที่ได้รับอนุญาตแห่งหนึ่ง

 

สรุปประเด็น THC และ CBD

เนื่องจากในกัญชา จะมี THC ประกอบอยู่ถึง 12% และมี CBD เพียงไม่ถึง 0.30% เท่านั้น

การสูบโดยตรงเพื่อรักษาโรคที่ CBD ทำได้นั้น ล้วนแต่ทำให้ร่างกายได้รับแต่ THC มากเกินไปเสียเปล่าๆ

การจะใช้งาน CBD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการสกัดมันออกมา

นั่นหมายถึงการนำกัญชาเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมแปรรูปเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปนั้นแทบจะทำไม่ได้

 

แต่หากในอนาคต มีการผ่านกฎหมายเพื่อให้ได้ใช้ “กัญชา” ในทาง “การแพทย์”

เชื่อว่าน่าจะมีการสกัด ศึกษาวิจัย และใช้สาร CBD เพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่ประสบปัญหาในหลายโรคได้เช่นกัน!!

 

 

หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลายๆคน เข้าเรื่องของ “กัญชา” กับ “การรักษาโรค” มากยิ่งขึ้น

และต้องออกตัวว่าผมเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ทั้งการใช้ปกติหรือรักษาโรคแต่อย่างใด

ข้อมูลก็อาศัยรวบรวมจากแหล่งน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ

หากมีข้อผิดพลาดอย่างไร สามารถท้วงติงเข้ามาในคอมเม้นต์ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ….

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.healthline.com/health/cbd-vs-thc#further-clarification

www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4987131/

www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3736954/

www.quora.com/What-is-the-difference-between-CBD-and-THC

www.leafscience.com/2017/11/22/thc-cbd-difference/

http://haamor.com/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...