Facebook
Twitter
LINE

“เกาหลีเหนือ” ในสายตาของคนภายนอก ดูเหมือนประเทศลึกลับและโดดเดี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

แต่ต่อให้โดดเดี่ยวเพียงใด เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “ประเทศ” แถมยังมีประชากรถึง 25 ล้านคนแล้ว การจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ก็ย่อมต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงประเทศ

อย่างประเทศไทย เราก็พึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งรายได้จากต่างชาติก็คือแหล่งรายได้สำคัญ

แต่กับประเทศที่ตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างเกาหลีเหนือ พวกเขาสร้างรายได้ด้วยวิธีไหนบ้าง..!?

 

 

 

การจะทำให้ประชาชนในประเทศอิ่มท้อง ก็ต้องเริ่มจากการเกษตรภายในประเทศ

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ เกาหลีเหนือสร้างระบบ “กระจายอาหาร” บนแนวคิดง่ายๆ ว่า กลุ่มเกษตรกรทำผลผลิตส่งเข้ารัฐ แล้วรัฐก็แจกจ่ายให้กับประชาชนไปแบ่งกันอย่างเท่าเทียม

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็สามารถใช้งานได้ในช่วงแรกๆ ที่มีประชากรเพียงไม่ถึง 10 ล้านคน

เมื่อเวลาล่วงเลยไป จากยุค 1950 มาถึงยุค 1990 ตัวเลขประชากรเกาหลีเหนือขยับเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน

แต่.. พื้นที่การเกษตรภายในประเทศยังเท่าเดิม

พื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาหลีเหนือจะเป็นภูเขาและไม่สามารถทำการเกษตรได้ จะมีพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 12 ล้านไร่เท่านั้น

(น้อยกว่าพื้นที่การเกษตรในไทยประมาณ 6 เท่า)

จากข้อมูลของ UN พบว่าปริมาณอาหารที่ชาวเกาหลีเหนือแต่ละคนได้รับ ลดลงจาก 600-800 กรัมต่อวัน เหลือเพียง 312 กรัมต่อวันเท่านั้น

 

ภาคการเกษตรของเกาหลีเหนือ

 

ทีนี้เราย้อนกลับไปในช่วงที่ก่อตั้งประเทศใหม่ๆ

ด้วยความที่เกาหลีเหนือมีสถานะเป็น “รัฐกันชน” เพราะตั้งอยู่ระหว่างเกาหลีใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของสหรัฐอเมริกา กับประเทศจีน-สหภาพโซเวียต

เกาหลีเหนือจึงได้รับความช่วยเหลือจากทั้งสองชาติมาโดยตลอด

มีข้อมูลระบุว่าตั้งแต่ช่วงปี 1950-1990 ทั้งสหภาพโซเวียต จีน และชาติสังคมนิยมอื่นๆ ปล่อยเงินกู้ยืมให้กับเกาหลีเหนือรวมกันมากถึง 200,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ไม่ได้จะงอมืองอเท้าเพื่อรับเงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

เกาหลีเหนือในยุค 1960-1980 คือประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ทั้งการทำเหมือง อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักร และการรับจ้างผลิตให้กับทั้งจีนและโซเวียต

เนื่องจากข้อมูลนั้นไม่แน่ชัด เราจึงไม่สามารถทราบตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับยอดการซื้อขายแลกเปลี่ยน ระหว่างเกาหลีเหนือและสองยักษ์ใหญ่ได้

แต่ที่พอจะทราบคร่าวๆ ก็คือ ทั้งสองชาตินอกจากจะปล่อยเงินกู้ยืมแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการซื้อขายสินค้า ช่วยรับซื้อสินค้าการเกษตร ขายน้ำมันราคาถูกให้

รวมถึงการจ้างงานโรงงานในเกาหลีเหนือ เพื่อผลิตสินค้าเป็นกรณีพิเศษอีกด้วย

 

การรับจ้างผลิตให้กับทั้งจีนและสหภาพโซเวียต ภาพ: AP

 

สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือได้อย่างยาวนาน จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมาถึง นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญ

เมื่อขาดความช่วยเหลือจากยักษ์ใหญ่หนึ่งราย ช่วงยุค 1990 จึงกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่สุดของเกาหลีเหนือ

อาหารขาดแคลน ประชาชนอดอยาก ภาคการผลิตในประเทศไม่เดินหน้า ซ้ำร้ายด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง 4 ครั้งในรอบสิบปี

ในตอนนั้นมีรายงานว่า เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นหลัก

 

จนกระทั่งเข้าสู่ยุค 2000 ที่จีนเริ่มมีอำนาจมากยิ่งขึ้น

ในที่สุดประเทศจีนก็ก้าวมาเป็นพี่ใหญ่ของเกาหลีเหนือได้อย่างเต็มตัว และนอกเหนือไปจากเงินช่วยเหลือที่ไม่เปิดเผยจำนวน การให้ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ

จีนยังเป็นคู่ค้าสำคัญที่เกาหลีเหนือส่งออกผลผลิตไปขายได้เกือบ 90% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นรายได้ถึง 7,000 ล้านบาทต่อปี

(แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับตัวเลขการนำเข้าสินค้าจากจีนและชาติอื่นๆ ที่เป็นเงินราว 70,000 ล้านบาทต่อปี แสดงว่าประเทศนี้ขาดทุน และน่าจะได้รับเงินช่วยเหลือมาโดยตลอด)

 

การทหารยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในประเทศ

 

นอกจากการส่งออกไปจีนที่เป็นรายได้หลักแล้ว ปัจจุบันงานในประเทศเกาหลีเหนือถูกขับเคลื่อนด้วยการทหาร และการก่อสร้างเป็นหลัก

จากข้อมูล มีตัวเลขที่ไม่ยืนยันแน่ชัดว่าเกาหลีเหนือทุ่มงบประมาณมากถึง 30-50% ของงบประมาณประเทศ ไปลงด้านการทหาร เพื่อให้เกิดการจ้างงานในกองทัพ การผลิตอาวุธ และการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ

นอกจากนี้ ยังเทงบประมาณบางส่วนไปยังการก่อสร้าง “เมกะโปรเจ็กต์” อย่างเช่น โรงภาพยนตร์ขนาดยักษ์ สวนน้ำ สนามบินเปียงยางแห่งใหม่ และศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์

ซึ่งในด้านการก่อสร้างนี้ ถูกสื่อฝ่ายตะวันตกบางแห่งโจมตีว่าเป็นการสร้างเพื่อภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้จริงๆ เช่นกัน

 

ปัจจุบันเกาหลีเหนือมีประชากร 25 ล้านคน ถูกประเมินว่ามีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 3,500 บาทต่อเดือน

นอกจากความลึกลับและโดดเดี่ยวอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในบางรายงานยังจัดให้เป็นประเทศที่ยากจนที่สุด และเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย…

 

"เกาหลีเหนือ" ในสายตาของคนภายนอก ดูเหมือนประเทศลึกลับและโดดเดี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแต่ต่อให้โดดเดี่ยวเพียงใด…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอังคารที่ 28 เมษายน 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://www.investopedia.com/articles/investing/013015/how-north-korea-economy-works.asp

https://www.worldometers.info/world-population/north-korea-population/

https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_North_Korea

https://www.cnn.com/2013/04/09/business/north-korea-economy-explainer/index.html

https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-07-21/north-korea-s-economy-rebounds-from-drought-amid-missile-focus?sref=sgn2IOkw

https://www.cia.gov/library/publications/resources/the-world-factbook/geos/kn.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...