Facebook
Twitter
LINE

เนเธอร์แลนด์ ประเทศที่มีพื้นที่ประมาณ 21 ล้านไร่

คิดเป็นอันดับที่ 138 ของโลก

ซึ่ง 26% ของพื้นดินประเทศนี้ ก็อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงทำให้โดนน้ำท่วมเป็นประจำ

แต่พวกเขาก็แก้ปัญหา และเปลี่ยนดินแดนแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งเกษตรกรรมชั้นเยี่ยม

พวกเขาส่งออกอาหารไปยังประเทศต่างๆ เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

สินค้าทางการเกษตรที่ส่งออกไป มีมูลถึง 3.5 ล้านล้านบาท สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ

พวกเขาทำได้อย่างไร!?

 

ด้านการจัดการน้ำ แก้ปัญหาจากต้นเหตุ

– ย้อนกลับไปประมาณ 60 ปีก่อน เนเธอร์แลนด์ตระหนักว่าประเทศของพวกเขามีข้อดีคือ ดินดีปลูกพืชขึ้น มีที่ราบเยอะ เหมาะกับการทำเกษตร

– แต่ข้อเสียคือ พื้นที่ 26% ของประเทศถูกน้ำท่วมเป็นประจำ แถมส่วนนั้นยังคิดเป็นพื้นที่เพาะปลูกถึง 66%

– ถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ ก็จะเจอปัญหาน้ำท่วมวนไปวนมาซ้ำซาก ส่งผลเสียต่อการเกษตรของประเทศมหาศาล

– พวกเขาจึงคิดโครงการ Delta Work โครงการเขื่อนกั้นน้ำทะเลและจัดการน้ำที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ยุค 1950 ใช้เวลาทั้งระบบกว่า 47 ปี จนมาเสร็จสิ้นในปี 1997

พูดได้เต็มปากว่าโครงการเขื่อนกั้นน้ำทะเลนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเกษตรของประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบให้หลายประเทศทั่วโลกมาศึกษาดูงาน และนำไปปรับใช้อีกด้วย

 

ด้านพัฒนาการศึกษา

– ประเด็นถัดไปคือเรื่องคุณภาพการศึกษา เกษตรกรของเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่คนด้อยความรู้ แต่ตรงกันข้าม พวกเขาคือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเป็นอย่างดี

– Wageningen University คือมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ด้านการเกษตรของโลก ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์

– นั่นจึงเป็นแหล่งกระจายความรู้ให้กับสถาบันการศึกษาอื่นภายในประเทศ

– เนเธอร์แลนด์ให้ความใส่ใจกับเทคโนโลยีการเกษตร โดยทุ่มงบให้งานวิจัยและพัฒนามหาศาล

– นั่นจึงดึงดูดให้บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทอาหารระดับโลก มาตั้งศูนย์วิจัยขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ตัวอย่างเช่น  Danone หรือ Heinz

– ยิ่งดึงดูดคนมีความสามารถเข้ามามากขึ้น การพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยก็ยิ่งพัฒนาได้เร็วขึ้นตามไปอีก

 

ด้านเทคโนโลยีการเกษตร และความยั่งยืน

– แนวคิดนี้ต้องย้อนกลับไปกว่า 20 ปี เมื่อรัฐบาลและเกษตรกรชาวเนเธอร์แลนด์เห็นพ้องต้องกันว่า “ต่อไปนี้เนเธอร์แลนด์ต้องผลิตอาหารได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า และใช้ทรัพยากรลดลงครึ่งหนึ่ง”

– เทคโนโลยีต่างๆ ทางการเกษตร จึงถูกผลักดันมาใช้ตั้งแต่ต้นยุค 2000 เป็นต้นมา

– อย่างแรกคือการเกษตรแบบโรงเรือน ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ชื่อว่ามีพื้นที่เพาะปลูกแบบโรงเรือนสูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับพื้นที่ดินปกติ

– บางโรงเรือนมีพื้นที่ใหญ่ถึง 400 ไร่ ขณะที่บางโรงเรือนก็ทำเป็นตึกหลายชั้น หรือกระทั่งใช้พื้นที่ดาดฟ้าสร้างโรงเรือน เพื่อปลูกพืชผักโดยเฉพาะ

– นอกจากนี้ ยังมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำที่ได้รับ สารอาหาร ค่าเคมีในดิน เพื่อนำมาวิเคราะห์ทำให้ผลผลิตงอกงามที่สุด

– มีการใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักร และโดรนช่วยในการเพาะปลูก ตั้งแต่การหว่านเมล็ด ให้น้ำให้ปุ๋ย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว

– นั่นทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์สูงมาก ตัวอย่างเช่น ประเทศอื่นปลูกมันฝรั่งได้ไร่ละ 20 ตัน แต่เนเธอร์แลนด์ปลูกได้ถึงไร่ละ 47 ตัน!!

– ในเรื่องของความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา กลุ่มเกษตรกรเนเธอร์แลนด์ สามารถเริ่มลดการใช้ยาฆ่าแมลง จนกระทั่งเลิกการใช้ในโรงเรือนไปได้เกือบ 95%

– ต่อมาทางกลุ่มปศุสัตว์ ก็นำมาเป็นต้นแบบ ลดการใช้สารเคมีในสัตว์ไปได้มากถึง 60%

 

ในด้านการส่งเสริมจากภาครัฐ

– นอกจากการบริหารจัดการน้ำที่เขียนไปข้างต้น การผลิตออกมาจะล้นตลาดทันที ถ้าไม่สามารถนำไปขายให้ลูกค้าได้

– รัฐจึงวางระบบการขนส่ง ทั้งถนน รางรถไฟที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาท่าเรือสำคัญ 6 แห่งของประเทศ

– ติดต่อเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อจำหน่ายสินค้าผลผลิตทางการเกษตรออกไปทั่วโลก

– จับมือกับบริษัทเอกชน จัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกัน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะ

– นั่นจึงทำให้สินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์ กระจายไปสู่ผู้บริโภคนับร้อยล้านคน ทั่วทั้งยุโรปและทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

 

สินค้าเกษตรเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าสูงเพียงใด??

ในปี 2014 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท

ในปี 2017 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเป็น 3.5 ล้านล้านบาท

 

ลูกค้าหลักคือประเทศเยอรมนี มีมูลค่ากว่า 850,000 ล้านบาท รองลงมาก็คือเบลเยียม อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี

 

สินค้าหลักคือดอกไม้ หัวดอกไม้ และเมล็ดพันธุ์ มีมูลค่าประมาณ 330,000 ล้านบาท

รองลงมาคือพวกเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม-ไข่-ชีส ผัก และผลไม้

 

เนเธอร์แลนด์ ให้ข้อคิดอะไรเรา…

อันดับในปัจจุบัน ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร 900,000 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 16 ของโลก

ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็น “ครัวโลก” และวางแผนพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย นับเป็นเวลาหลายสิบปี

การเปิดใจศึกษาจากประเทศที่อันดับสูงกว่า และมีประสิทธิภาพกว่า ย่อมนำมาซึ่งการพัฒนาให้กับไทยได้

 

เนเธอร์แลนด์แสดงให้เห็นถึง…

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร ตั้งเป้าไปในทิศทางเดียวกัน

การวางรากฐานของระบบ ทั้งแก้ปัญหาน้ำ และด้านการขนส่ง

การพัฒนาด้านการศึกษา เป็นแหล่งความรู้การเกษตรอันดับ 1 ของโลก

การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ตั้งแต่ราว 20 ปีก่อน

การวางแผนสู่เกษตรแบบยั่งยืน ที่มองถึงผลระยะยาว มากกว่าการเพิ่มผลผลิตเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว

 

จึงทำให้สินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์ มีทั้ง “ปริมาณมาก” และ “คุณภาพสูง”

เป็นต้นแบบให้กับประเทศเกษตรกรรมหลายแห่งควรตระหนัก ว่าการ “ร่ำรวย” จากการเกษตรนั้นก็น่าจะทำได้จริง… ไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด

 

 

ที่มา:

https://medium.com/

https://www.worldatlas.com//

http://world.bymap.org/LandArea.html#cp_chart_tab_1-1

http://www.kttplus.com/

www.kasetkaoklai.com/

http://www.kriengsak.com/Dutch-Agricultural-Innovation

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...