Facebook
Twitter
LINE

ปี 2016 ญี่ปุ่นส่งออกเนื้อวากิว รวมเป็นมูลค่า 2,850 ล้านบาท

ปี 2017 เนื้อวากิวสร้างรายได้ให้ประเทศญี่ปุ่น 4,000 ล้านบาท เติบโตถึง 40%

และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2019 จะสามารถส่งออกวากิวได้กว่า 7,800 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความร่วมมือกันทั้งของเกษตรกร ผู้ค้าเนื้อ และรัฐบาลญี่ปุ่นช่วยผลักดันอีกทาง

 

 

ย้อนอดีตกว่าจะมาเป็นวัวญี่ปุ่นในยุคนี้!?

– เดิมนั้นญี่ปุ่นโบราณเลี้ยงวัวเพื่อเกษตรกรรม วัวมีขนาดตัวเล็ก ให้เนื้อน้อย

– ต้องย้อนไปถึงปี ค.ศ.1870-1900 ที่ญี่ปุ่นเริ่มรับวัฒนธรรมบริโภคเนื้อวัวจากทางตะวันตก

– ช่วงปี ค.ศ.1910 จึงเกิดการพัฒนาสายพันธุ์วัวให้ตัวใหญ่ขึ้น เนื้อมากขึ้น เพื่อขายให้กลุ่มคนกินเนื้อวัว แต่ข้อเสียคือโตแต่ตัว วัวเป็นโรคง่าย

– ญี่ปุ่นใช้เวลา 30 กว่าปีในการพัฒนาวัว ลองผิดลองถูกไปมากมาย

– จนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังปี ค.ศ.1945 จึงสามารถพัฒนาสายพันธุ์วัวที่ตัวใหญ่ ให้เนื้อเยอะ และแข็งแรงได้สำเร็จ

– สุดท้ายวัวญี่ปุ่นยุคใหม่ จึงมี 4 พันธุ์หลักๆ ได้แก่ ญี่ปุ่นเขาสั้น, ญี่ปุ่นไร้เขา, ญี่ปุ่นขนน้ำตาล และสายพันธุ์ญี่ปุ่นขนดำ ซึ่งจำนวนมากถึง 90% ของวัวเลี้ยง มีไขมันแทรกมากที่สุด และชื่อเสียงโด่งดังที่สุด

 

วัวญี่ปุ่นยัคก่อน ตัวเล็ก เนื้อน้อย ใช้ในการเกษตร

 

เนื้อวัวญี่ปุ่น สร้างชื่อในระดับโลกได้อย่างไร!?

– เดิมทีวัวญี่ปุ่นนั้นเน้นการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก คนญี่ปุ่นนิยมเนื้อวัวติดมัน ยิ่งมีไขมันมากยิ่งอร่อย ซึ่งขัดกับทางตะวันตกที่นิยมสเต็กเนื้อแดงที่มีไขมันน้อย

– ทีนี้เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด พวกเขาก็แบ่งเกรดเนื้อวัวออกเป็นระดับต่างๆ โดยวัดจากคุณภาพ ความแน่นของเนื้อ สีของไขมัน และการแทรกของไขมัน

– ตั้งแต่ C1 เนื้อเกรดต่ำไขมันน้อย ไปถึง A5 เนื้อคุณภาพดีมีไขมันลายหินอ่อนสวยงามที่สุด

– พอมีมาตรฐานชัดเจน ทีนี้ก็สามารถแบ่งเกรดราคาเนื้อ และสร้างมูลค่าให้มากขึ้นได้แล้ว

– พอกลุ่มผู้ค้าในตลาดแบ่งเกรดมาแบบนี้ เกษตรกรก็จะต้องพยายามขุนวัวออกมาให้ตามความต้องการของตลาดมากที่สุด

– หลายคนอาจจะได้ยินทั้งเทคนิคเลี้ยงวัวด้วยคาร์โบไฮเดรตสูง ให้กินเหล้า กินเบียร์ นวดตัว หรือกระทั่งเปิดเพลงให้ฟัง ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นเทคนิคที่แต่ละ “ฟาร์มวัว” พยายามคิดค้นขึ้นมา

– นั่นหมายความว่า ที่โกเบอาจจะเปิดเพลงให้ฟัง พร้อมกับให้วัวกินเหล้าวันละครั้ง

– แต่ที่มัตสึซากะ ฟาร์มบางแห่งอาจจะเน้นนวดวัว เพื่อให้พวกมันตื่นตัวและกินอาหารเยอะๆ รวมถึงเน้นอาหารจำพวกแป้งเป็นหลัก

– เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นฟาร์มที่โกเบ มัตสึซากะ หรือเมืองอื่นๆ แต่เกรดของเนื้อที่ได้รับมาตรฐาน A5 ก็จะเป็นเกรดเดียวกัน

– ทีนี้พอมีมาตรฐานเนื้อชัดเจน แถมแต่ละฟาร์มมีสตอรี่ของฟาร์มตัวเอง บ้างก็บอกว่าเปิดเพลงแล้ววัวสบายใจ เนื้อคุณภาพดี บ้างก็บอกว่านวดแล้ววัวผ่อนคลายทำให้เนื้อนุ่ม

สตอรี่หรือเรื่องราวการเลี้ยงอันเป็นเอกลักษณ์นี่แหละ ช่วยให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น!!

 

– เมื่อการบริโภคภายในประเทศอยู่ตัว แถมทั้งกลุ่มเกษตรกรและผู้ค้าสร้างมูลค่าสินค้ามาขนาดนี้แล้ว รัฐบาลก็ช่วยส่งเสริมให้คนมารู้จักคุณค่าเนื้อ และช่วยเรื่องส่งออกอีกทาง

– นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงหลัง จึงจัดให้เนื้อวัวกลายเป็นอีกหนึ่งของต้องลองชิมเมื่อมาเยือน และเมื่อนักท่องเที่ยวติดใจ พวกเขาก็จะเอาไปบอกต่อเพื่อน

– นอกจากเพื่อนๆ จะบินมาเที่ยวและมาลองกินแล้ว ยังเป็นการสร้างความต้องการในประเทศปลายทางอีกด้วย

– เพราะฉะนั้นการส่งออกเนื้อวากิวระดับพรีเมียมตั้งแต่ A1-A5 จึงกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้ญี่ปุ่น

– ลูกค้าหลักจะเป็นฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และยุโรป ที่คนมีกำลังซื้อ และต้องการความ “พรีเมียม” มากกว่าปกติ

– สุดท้ายแล้วเนื้อวากิว จึงกลายมาเป็นของกินต้องลองสำหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น และกลายเป็นของราคาแพงให้ส่งออกไปยังนักชิมที่อาศัยอยู่รอบโลก

 

การสร้าง Story คืออีกหนึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จของฟาร์มวัว

 

ธุรกิจของคุณก็จำเป็นที่จะต้องสร้าง Story

การขายเนื้อวัวอย่างเดียว อาจจะไม่สามารถสร้างรายได้มากขนาดนี้ แต่พวกเขายังช่วยกันสร้าง “Story” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เนื้อมีความพิเศษขึ้นไปอีก

 

การอยู่รอดในยุคดิจิตัลที่ใครๆ ต่างก็เข้าถึงสินค้าและข้อมูลได้แค่ปลายนิ้วคลิก

ในยุคที่บริษัทใหญ่พร้อมจัดโปรโมชั่นเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ในยุคที่ทุกคนทุกคนสามารถทำสินค้าออกมาคล้ายกัน มีคุณภาพพอกัน แถมขายราคาพอๆ กันอีก

การมีเอกลักษณ์หรือมีเรื่องราวที่น่าดึงดูดกว่า อาจจะเป็นเคล็ดลับทางรอดของธุรกิจของเราก็เป็นได้…

 

 

ที่มา:

https://asia.nikkei.com

www.bloomberg.com/

www.globalmeatnews.com

http://www.foodfti.com/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...