Facebook
Twitter
LINE

สรุปประวัติ 20 ปี ธุรกิจ OR จากร้านกาแฟสาขาแรก สู่บริษัทรายได้ 500,000 ล้านบาท

 

ย้อนกลับไปใน ปี พ.ศ. 2544 หลังจากที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้ว

ส่วนหนึ่งในแผนการลงทุนของ ปตท. ก็คือ การทำให้ปั๊มน้ำมัน เป็นมากกว่าแค่ที่ลูกค้ามาเติมน้ำมัน หรือแวะปลดทุกข์เท่านั้น

ถ้าใครยังจำกันได้ ภาพลักษณ์ของปั๊ม ปตท. หลายแห่งในช่วง 20-30 ปีที่แล้วก็คือ ปั๊มน้ำมันเก่าๆ ห้องน้ำอาจไม่ค่อยสะอาด ยังสู้กับปั๊มแบรนด์ต่างชาติในยุคนั้นได้ไม่ดีนัก

ทางฝั่ง ปตท. เอง ก็ต้องการสร้างบริการที่ครบครันมากขึ้น เป้าหมายในตอนนั้นก็คือต้องมี “ร้านขายของ” และ “สถานที่พักผ่อน” เป็นของตัวเอง

นำไปสู่จุดเปลี่ยนแรกก็คือ การตัดสินใจเปิดร้าน Cafe Amazon ร้านกาแฟซึ่งเน้นบรรยากาศร่มรื่น เหมือนกับป่าฝนอะเมซอนในอเมริกาใต้

พร้อมกับจับมือซีพีออลล์ ดึงร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่กำลังต้องการขยายสาขา มาเปิดให้บริการในเครือข่ายปั๊ม ปตท. ทั่วประเทศไทย

ซึ่งนับว่าทั้ง 2 โครงการนั้น ประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการทั้ง 2 ร้านในปั๊มน้ำมันมากยิ่งขึ้น

และยังมีส่วนช่วยทำให้ปั๊ม ปตท. ค่อยๆ เปลี่ยนภาพลักษณ์จากปั๊มเก่าๆ ของหน่วยงานรัฐ กลายมาเป็นปั๊มที่ทันสมัยทัดเทียมกับแบรนด์ต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น

 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2550

ถ้าใครยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้มีปั๊มน้ำมัน JET ซึ่งมีสาขาเปิดทั่วไทยเกือบ 150 สาขา พร้อมกับร้านสะดวกซื้อ Jiffy ที่เป็นไม้เด็ดดึงดูดคนให้มาใช้บริการ

ทาง ปตท. เล็งเห็นอนาคตของธุรกิจ จึงตัดสินใจทุ่มเงินราว 9,600 ล้านบาท เพื่อซื้อกิจการดังกล่าวจากกลุ่ม ConocoPhillips ที่เป็นเจ้าของเดิม

การซื้อครั้งนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้ง “บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด” ขึ้นมาเป็นบริษัทในเครือ ปตท. นั่นเองครับ

 

หลังจากนั้นเป็นเวลาอีกกว่า 5 ปี ที่บริษัทขยายธุรกิจปั๊มน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนมองว่าลำพังแค่การเปิดร้านกาแฟในปั๊มนั้น จะไม่สามารถเติบโตได้มาก

ถ้าจะโต ก็ยังมีเส้นทางให้โตอีก 2 ทาง นั่นก็คือ “การไปขายนอกปั๊ม” และ “การไปขายต่างประเทศ”

ปี พ.ศ. 2555 ทาง ปตท. จึงเริ่มโฟกัสถึงการเปิดร้านการเปิดสาขา Cafe Amazon นอกปั๊มน้ำมัน รวมถึงเปิดขายแฟรนไชส์ให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจดังกล่าว

พร้อมกับการเริ่มขยายปั๊มน้ำมัน และร้านกาแฟไปยังประเทศลาว แล้วก็กัมพูชาในปีถัดมา

 

ถึงจุดนี้.. ในปั๊มน้ำมัน ปตท. มีทั้งบริการเติมน้ำมัน มีร้านสะดวกซื้อ มีร้านกาแฟ มีคนมาเช่าเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของฝาก แล้วยังขาดอะไรอีก?

คำตอบก็คือ ร้านอาหารที่จะเป็นของ ปตท. เอง

หลายคนอาจจะสังเกตว่า ในปั๊ม ปตท. ก็มีร้านอาหารอื่นๆ อย่าง KFC หรือ Chester’s เปิดอยู่บ้างแล้ว และหลายสาขาก็มียอดขายที่ดีด้วย

ในปี พ.ศ. 2558 ทางบริษัทจึงไปซื้อแฟรนไชส์ Texas Chicken ร้านไก่ทอดจากสหรัฐฯ รวมไปถึงฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ มาขยายสาขาผ่านเครือขายปั๊มน้ำมันที่มีอยู่

 

ในส่วนของการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปตท. ก็นำ Cafe Amazon ไปยังฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เมียนมาร์ โอมาน สิงคโปร์ จีน และก็มาเลเซีย

ทำให้ในปัจจุบันจาก Cafe Amazon ทั้ง 3,440 สาขา เป็นร้านในต่างประเทศเกือบ 300 สาขา หรือคิดเป็นตัวเลขเกือบ 10%

 

แล้วความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาถึงอีกครั้ง..

เพื่อเตรียมที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น ปตท. เปลี่ยนชื่อบริษัทลูก “บริษัท ปตท. ธุรกิจค้าปลีก จำกัด” มาเป็น “บริษัท ปตท. น้ำมันและ การค้าปลีก จำกัด”

จากนั้นก็แยกส่วนธุรกิจการขายน้ำมัน การค้าปลีก อาหารเครื่องดื่มและบริการอื่นๆ ออกมายังบริษัทใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นนี้ ในปี พ.ศ. 2561

ผ่านไปเกือบๆ 3 ปี ในที่สุดบริษัทที่แยกตัวออกมานั้น ก็กลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท มีกำไรในหลัก 10,000 ล้านบาท

ซึ่งมาจากทั้งธุรกิจการขายน้ำมัน ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง การขายก๊าซหุงต้ม การขายอาหารเครื่องดื่ม การให้เช่าพื้นที่ การขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

แล้วก็เตรียมตัวที่จะแบ่งหุ้นราวๆ 25% มาให้นักลงทุนที่สนใจได้มาร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจในที่สุด

 

สรุปปิดท้าย..

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” แปลงสภาพเป็น “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น

ในตอนนั้น กระแสของหุ้น PTT ก็ร้อนแรง ถูกจองหมดในไม่ถึงสองนาที  แต่พอเข้าตลาดไม่นานนัก ราคาหุ้นก็ตกต่ำลงไปจนทำให้หลายคนขาดทุนไปนานเกือบหนึ่งปี

แต่ภายหลังเมื่อบริษัทขยายไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น สร้างรายได้และกำไรมากขึ้น ราคาหุ้นก็ค่อยๆ ปรับตัวขึ้น สร้างกำไรให้นักลงทุนในตอนนั้นนับ 10 เท่า!!

 

ผ่านมา 20 ปี หุ้น OR บริษัทที่ทำธุรกิจใกล้ชิดกับคนไทยกำลังจะเปิดจองซื้อ แถมรอบนี้ยังให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จึงไม่น่าแปลกที่หลายคนจะให้ความสนใจ

แต่เมื่อเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว บริษัทจะเติบโตไปต่ออย่างไร? ราคาหุ้นจะสามารถสร้างกำไรได้แค่ไหน?

แล้ว OR จะเดินตามรอยสิ่งที่ PTT ทำได้ในอดีตหรือไม่?

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องรอให้เวลา ค่อยๆ เฉลยคำตอบนั้นออกมาในอนาคตครับ..

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่

 

ที่มา:

www.thairath.co.th/news/business/972658

https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing

https://investor.pttor.com/th

 

เนื้อหา: ประณิธิ วงศ์คำจันทร์

ภาพประกอบ: พิชญา วันดี

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...