Facebook
Twitter
LINE

คนที่ไม่เคยทำธุรกิจขายโยเกิร์ตมาก่อนในชีวิต จะไปสู้รายใหญ่ในตลาดได้เหรอ!?

 

Hamdi Ulukaya เด็กชาวตุรกีผู้เกิดมาในครอบครัวที่ทำอาชีพปศุสัตว์ ทำให้เขาคุ้นเคยกับฟาร์ม วัว แกะ และน้ำนม มาตั้งแต่ยังเล็ก

หลังจบการศึกษามหาวิทยาลัยในด้านรัฐศาสตร์ เขามองว่าความรู้ภาษาอังกฤษของตนเองยังอ่อนนัก

ในปี 1994 เขาจึงตัดสินใจใช้เงินเก็บ และหยิบยืมจากครอบครัว เพื่อไปยังที่ซึ่งเขามองว่าจะพัฒนาความรู้ด้านภาษาได้ นั่นก็คือ “สหรัฐอเมริกา”

 

 

แต่เหมือนการออกสู่โลกกว้างทำให้เขาค้นพบตนเอง ว่าภาษาอังกฤษอาจไม่ใช่วิชาที่เขาใฝ่ฝัน

เขาย้ายไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจจนจบการศึกษา จากนั้นจึงเข้าทำงานเป็นพนักงานในฟาร์มแห่งหนึ่ง

 

11 ปีหลังจากที่เขาย้ายมายังสหรัฐอเมริกา

ในปี 2005 เขาบังเอิญเจอโฆษณาประกาศขายโรงงานโยเกิร์ตเก่า ที่มีอายุกว่า 80 ปี ซึ่งอยู่ห่างจากตนเองไปราวๆ 100 กิโลเมตร

โรงงานนั้นเคยถูกใช้โดย Kraft บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ แต่พวกเขาตัดสินใจยุติการผลิตที่แห่งนี้ลง

การเร่งขายโรงงานดังกล่าว ทำให้มันมีราคาถูกกว่าปกติ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงทั้งความเก่าของสถานที่ และที่ตั้งซึ่งห่างไกล

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรู้จักและที่ปรึกษาของเขา

โดยต่างก็ให้เหตุผลว่าแม้แต่บริษัทใหญ่ยังต้องปิดโรงงาน คนอย่าง Hamdi จะซื้อมาทำต่อ แล้วจะไปรอดหรือ!?

คนอเมริกันนั้นอาจจะไม่ชอบกินโยเกิร์ต เราเปลี่ยนใจพวกเขาไม่ได้หรอก!?

แล้วมีเหตุผลใด ทำให้เขาตัดสินใจซื้อโรงงานแห่งนี้!?

 

Hamdi ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ตัวเขาเองเป็นชาวตุรกี ซึ่งชอบกินโยเกิร์ตที่เรียกว่า “กรีกโยเกิร์ต”

โยเกิร์ตลักษณะดังกล่าวมีความข้น รสจืด และต่างจากโยเกิร์ตของชาวอเมริกันซึ่งเขามองว่า เหลวไป น้ำตาลเยอะไป และปรุงแต่งมากไป

เขาคิดว่า ถ้านำเสนอโยเกิร์ตในรูปแบบใหม่ให้กับชาวอเมริกัน พวกเขาจะต้องชื่นชอบมันเป็นแน่

เขาจึงตัดสินใจนำแผนธุรกิจที่มีในหัว ไปกู้เงินจากหน่วยงานด้านการส่งเสริมธุรกิจรายย่อยของสหรัฐ เพื่อทำการซื้อโรงงาน และเครื่องจักรสำคัญในทันที

และอาจจะเป็นเพราะแผนธุรกิจน่าสนใจ เขานำเสนอได้ดี หรือจะโชคดีก็ตาม เขาได้รับการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว

และนั่นคือการเริ่มกิจการ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ…

 

Hamdi เริ่มต้นด้วยคนงาน 6 คน และระยะเวลาเกือบ 2 ปี ในการทำให้สูตรโยเกิร์ตของเขาลงตัว

ในที่สุด เขาก็เริ่มปล่อยโยเกิร์ตแบรนด์ Chobani ออกสู่ท้องตลาดได้ในปี 2007

แม้จะมียอดขายไม่มากนัก และจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาติดเบอร์โทรศัพท์ของตนเองไว้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น

หากลูกค้าคนไหนซื้อไปกินแล้วมีคำแนะนำ หรือไม่พอใจอะไร ก็สามารถติดต่อกลับมาหาเจ้าของกิจการโยเกิร์ตดังกล่าวได้โดยตรง

 

 

แม้สินค้าจะมีคุณภาพ แต่หากคนไม่รู้จัก ก็คงไม่มีใครจะอยากซื้อ…

ในปี 2009 ผ่านไป 2 ปีหลังจากวางขาย โยเกิร์ตของพวกเขายังมียอดขายส่งเพียงวันละประมาณ 30 โหลเท่านั้น

ถึงตอนนั้นคำถามต่างก็รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น

จะต้องทำอย่างไรถึงจะมีลูกค้าซื้อมากยิ่งขึ้น!?

คนอเมริกันไม่ชอบกินกรีกโยเกิร์ต แต่ชอบโยเกิร์ตแต่งรสชาติมากกว่าเหรอ!?

และ.. เขาจะล้มเหลวในธุรกิจนี้หรือไม่!?

 

แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อการนำสินค้าไปเสนอกับห้างชื่อดังอย่าง Costco ประสบผลสำเร็จ (ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในอเมริกา ที่เป็นรองเพียง Walmart)

และเมื่อถูกนำไปวางขายในห้างสรรพสินค้า โยเกิร์ต Chobani แบบข้น ที่ไม่ได้ปรุงรสหรือแต่งกลิ่น ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้า

จากยอดขายที่ทำได้วันละประมาณ 30 โหล หรือสัปดาห์ละ 200 โหล

ภายในเวลาแค่ปีเดียว พวกเขาต้องผลิตเพื่อให้ทันกับยอดสั่งซื้อสัปดาห์ละ 1.5 ล้านโหลเลยทีเดียว!!

 

ไม่ใช่เพียงสินค้าที่แตกต่าง แต่การตลาดก็ต้องแตกต่างด้วย..

หลังจากสร้างยอดขายดีในปี 2009 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้บริษัทเริ่มมีงบการตลาดมากยิ่งขึ้น

บริษัทอาหารส่วนใหญ่ในยุคนั้น เลือกการโฆษณาผ่านทางสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ เพื่อให้เข้าถึงชาวอเมริกันผู้ชอบนั่งอยู่หน้าทีวีมากที่สุด

แต่ Chobani กลับคิดว่าพวกเขาคือบริษัทเล็กๆ และคงไปทุ่มงบโฆษณาสู้ไม่ไหวแน่ๆ

พวกเขาจึงตัดสินใจมองหาทางออกใหม่ๆ ในยุคนั้น ซึ่งยังไม่ค่อยได้รับความนิยม และถูกตั้งคำถามว่าจะได้ผลหรือไม่!?

นั่นก็คือ เหล่าบล็อกเกอร์ เซเลบออนไลน์ ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียน้องใหม่อย่างเฟซบุ๊ก

แต่ปรากฏว่า การเติบโตของโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ยิ่งเป็นผลดีกับ Chobani ซึ่งเข้ามายึดครองพื้นที่ตรงนี้ไว้ก่อนแล้ว

แถมสินค้าของพวกเขา ยังไปถูกจริตของคนรุ่นใหม่ที่หันมา “ใส่ใจสุขภาพ” ยิ่งขึ้นกว่าเดิม และคนรุ่นใหม่ ก็คือกลุ่มคนที่ใช้สื่อออนไลน์มากที่สุดอีกด้วย

 

แม้ยุคนี้จะทุ่มเงินซื้อสื่อมากขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ พวกเขาต้องเลือกวิธีที่แตกต่าง…

 

ปัจจุบัน Chobani มีผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตให้เลือกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และเป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโยเกิร์ต 22%  มากเป็นอันดับหนึ่งในอเมริกา

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในตอนที่เขาซื้อโรงงานเมื่อปี 2005 นั้น กรีกโยเกิร์ตยังมียอดขายไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับโยเกิร์ตชนิดอื่นๆ

แต่ปัจจุบัน กรีกโยเกิร์ตกลับได้รับความนิยม จนแบรนด์อื่นๆ ต้องหันมาออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตาม

ขณะที่แบรนด์ Chobani สามารถสร้างยอดขายในปีล่าสุดได้มากกว่า 45,000 ล้านบาท

แถมยังทำให้ Hamdi Ulukaya  กลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 30,000 ล้านบาทได้ในที่สุด

 

ความสำเร็จของ Hamdi เกิดขึ้นเพราะอะไรกัน!?

อาจจะเกิดจากการสนับสนุน ให้เด็กหนุ่มชาวตุรกีได้มีโอกาสมาเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา

อาจจะเกิดจากความเชื่อมั่นในความคิดตนเอง ที่มองว่าอย่างไรกรีกโยเกิร์ต ก็ดีกว่าโยเกิร์ตปรุงแต่งรสที่มีขายทั่วๆไป

อาจจะเกิดจากความกล้า กล้าที่จะลงทุนซื้อต่อโรงงานเก่า ท่ามกลางเสียงคัดค้าน

อาจจะเกิดจากการนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจ จนห้างสรรพสินค้าใหญ่นำไปวางขายจนโด่งดัง

หรือสิ่งที่เรียกว่าความรู้ ความสามารถ และโชคชะตา ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปได้อย่างดี

คุณเองล่ะครับ คิดว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร!? แล้วคุณเอง ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องราวของทั้ง Hamdi และ Chobani !?

ร่วมคอมเมนต์พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้เช่นเคยครับ…

 

คนที่ไม่เคยทำธุรกิจขายโยเกิร์ตมาก่อนในชีวิต จะไปสู้บริษัทใหญ่ในตลาดได้เหรอ!?Hamdi Ulukaya…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันพุธที่ 4 กันยายน 2019

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

https://www.businessinsider.com/chobani-founder-hamdi-ulukaya-and-the-greek-yogurt-craze-2012-6

https://www.businessinsider.com/chobani-founder-hamdi-ulukaya-ceos-report-to-consumer-2019-7

https://www.forbes.com/profile/hamdi-ulukaya/#21d4be514052

https://en.wikipedia.org/wiki/Hamdi_Ulukaya

https://fortune.com/2017/05/22/general-mills-yoplait-greek-yogurt/

http://www.iqworkforce.com/where-did-chobani-go-wrong-was-it-avoidable/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...