Facebook
Twitter
LINE

จะดีหรือไม่ ถ้าคุณรู้ตัวเลข “การจ่ายภาษี” ของคนอื่นๆ

การจ่ายเงินเสียภาษีมาก เท่ากับว่าคุณมีรายได้มาก

คุณจะรู้ว่าเพื่อนบ้านคุณ มีรายได้ประมาณเท่าไร

รู้ว่าเพื่อนร่วมงาน เสียภาษี และมีรายได้ต่างกับคุณรึเปล่า

รู้กระทั่งว่าเจ้าของบริษัทที่เราทำงาน จ่ายภาษีมากน้อยแค่ไหน

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ “ฟินแลนด์” นั่นเอง

 

เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์

 

ทุกวันที่ 1 พฤศจิกายน รัฐบาลจะเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษีออกมาเป็นสาธารณะ

นั่นทำให้ชาวฟินน์ เรียกกันติดปากว่านี่คือ “วันอิจฉาแห่งชาติ”

เพราะทุกคนจะได้รับรู้ตัวเลขภาษีที่คนอื่นๆ จ่ายไป

ไม่ว่าจะเป็นคนงานทั่วไป มนุษย์เงินเดือน ผู้บริหารระดับสูง หรือกระทั่งนักการเมืองก็ตาม

 

ทำไมต้องเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษี??

ประเทศฟินแลนด์เป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงอันดับต้นๆ ของโลก

แถมรายได้จากภาษีเงินได้ ก็มากถึง 1 ล้านล้านบาท จากจีดีพีของประเทศ 8 ล้านล้านบาท

คิดเป็นมูลค่าถึง 13% ของจีดีพี

 

ทั้งที่ประชาชนชาวฟินแลนด์จะต้องเสียภาษีเฉลี่ยคนละประมาณ 52% จากรายได้ของพวกเขา

แต่เมื่อมีการสำรวจ กลับพบว่าคน 79% ยืนยันว่ามีความสุขดีกับการจ่ายภาษี

เพราะพวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่ได้รับกลับมา นั้นคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปใช่หรือไม่??

 

ภาครัฐระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ส่งผลดีกับประเทศหลายอย่าง

ส่วนแรกคือเรื่องของการรักษาความโปร่งใสภายในประเทศ

เมื่อข้อมูลทุกอย่างเปิดเผย ประชาชนตรวจสอบได้ ภาครัฐก็ไม่ต้องกังวลถึงคำครหาในเรื่องการจัดเก็บภาษี

และปล่อยให้ภาคประชาชน สื่อมวลชน เป็นผู้ตรวจสอบกันเอง

จะเห็นได้ว่ารุ่งสางวันที่จะประกาศข้อมูล มีสื่อมวลชนไปเข้าแถวหน้าหน่วยงานภาษีในกรุงเฮลซิงกิ

เพื่อรอทำข่าวข้อมูลการจ่ายภาษีของเหล่าคนดัง และคนที่สังคมให้ความสนใจ

ซึ่งกลุ่มที่ “ดูรวยมาก” แต่ “จ่ายภาษีน้อยมาก” ก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษเช่นกัน

 

ถัดมาคือการรักษาระดับเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ

พวกเขามองว่า หากมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะ จะสามารถใช้ตัวเลขเหล่านั้นวิเคราะห์ความแตกต่างของรายได้ในสังคม

และคอยระวังได้ว่าความต่างของ “คนรายได้น้อย” กับ “คนรวย” มีความเหลื่อมล้ำมากเกินไปหรือไม่

ถ้าสังคมกำลังเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ภาครัฐก็จะได้ไหวตัวทันและหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ

 

ในเรื่องของการแข่งขันและความเท่าเทียมในการทำงาน

ถึงแม้เรื่องของการจ่ายเงินชาย-หญิง ที่ทำงานเหมือนๆ กันในอัตราที่ต่างกัน จะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ในบ้านเรา

แต่สำหรับชาวฟินน์ มองว่านี่คือความสำคัญอย่างหนึ่ง

พวกเขาจะสามารถเปรียบเทียบรายได้กับคนทำงานแผนกเดียวกัน ดูว่ามีการจ่ายต่างกันเป็นพิเศษหรือไม่??

ถ้ามีการจ่ายต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของความสามารถ ผลงานที่ต่างกัน

หรือจ่ายต่างกันแบบไร้เหตุผล พวกเขาก็จะร้องเรียนกับทางบริษัทได้

นอกจากในบริษัทเดียวกัน คนทำงานยังเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ว่ามีการจ่ายมากน้อยอย่างไร

ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการ ที่จะนำเสนอรายได้สูงขึ้น เพื่อดึงดูดคนมีความสามารถมาทำงานกับบริษัทด้วย

 

การสืบค้นข้อมูลด้านการจ่ายภาษี กลายเป็นงานใหญ่ของสื่อมวลชนในวันนั้น

.

ภาพสื่อมวลชนไปต่อแถว รอการเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษี

ภาพ: นิวยอร์กไทม์

 

เสียงคัดค้านจากคนไม่เห็นด้วย…

แน่นอนว่าทุกเรื่องย่อมมีสองด้าน เมื่อมีคนสนับสนุน ก็ย่อมมีคนต่อต้านเรื่องดังกล่าว

ฝ่ายต่อต้านนโยบายเปิดเผยข้อมูลการจ่ายภาษี ระบุว่ามันเป็นเรื่องที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว

พวกเขามองว่าข้อมูลด้านรายได้นั้นควรเป็นความลับของบุคคล

และการเปิดเผย จะนำมาซึ่งปัญหาความสุขของคนทำงาน เกิดการเปรียบเทียบ จัดการพนักงานได้ยากขึ้น

รวมถึงเป็นการทำให้สังคมพุ่งเป้าโจมตีไปที่ “คนมีชื่อเสียง” แต่จ่ายภาษีน้อย ทั้งที่เขาก็ลดหย่อนตามกฎหมายเช่นกัน

 

เรื่องดังกล่าวมีกรณีศึกษาจากที่นอร์เวย์

จากประเด็นที่นอร์เวย์มีการเปิดเผยข้อมูลรายได้และการจ่ายภาษีด้วยเช่นกัน

ผลการวิจัยในปี 2013 พบว่ามีความแตกต่างของ “ความสุข” ในกลุ่มประชากรที่รายได้สูงเพิ่มขึ้น ขณะที่คนรายได้ต่ำนั้นมีความสุขลดลง

จนกระทั่งในปี 2014 ภาครัฐนอร์เวย์ต้องปรับเปลี่ยนการเปิดเผยข้อมูล

จากที่ให้ทุกคนค้นหาข้อมูลได้ มาเป็นการค้นหาข้อมูลแบบต้องยืนยันตัวตนแทน

ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการสอดส่องเรื่องรายได้ของคนอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย

 

กรณีจากฟินแลนด์ ย้อนมาถึงประเทศไทย…

อัตราภาษีนิติบุคคลในไทย อยู่ที่ประมาณ 20%

ขณะที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เก็บที่ประมาณ 5-35%

ตามรายงานระบุว่า ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้ทั้งสองประเภทในปีล่าสุด รวมกันประมาณ 930,000 ล้านบาท

(คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.5% ของจีดีพี)

 

จะดีหรือไม่หาก “ประเทศไทย” เริ่มนโยบายเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการจ่ายภาษีเป็นสาธารณะ

คุณคิดว่าอย่างไร… เห็นด้วย?? ไม่เห็นด้วย?? และจะส่งผลอะไรตามมาบ้าง??

ลองมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในคอมเม้นต์กันนะครับ

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.france24.com/en/20181102-Sergio-Moro-Arron-Banks-French-colonialism-sunscreen-ban-national-jealousy-day

www.weforum.org/agenda/2018/11/finland-has-just-published-everyone-s-taxes-on-national-jealousy-day

www.nytimes.com/2018/11/01/world/europe/finland-national-jealousy-day.html

https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=2657808

www.rd.go.th/publish/308.0.html

http://dataservices.mof.go.th/Dataservices/GovernmentRevenue

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...