Facebook
Twitter
LINE

ปัจจุบันนี้ เงินฝากในธนาคารของคุณ ได้รับการคุ้มครองสูงสุด 10 ล้านบาท

แต่ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า เงินฝากจะได้รับการคุ้มครองแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น

เพราะอะไร?? มีที่มาที่ไปอย่างไร?? และจะส่งผลกระทบกับเราแค่ไหน??

 

 

เพจแนวคิดพันล้าน จะพาไปรู้จักกับสถาบันคุ้มครองเงินฝากกันก่อน

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ถูกก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551 ตามแบบอย่างหลายประเทศที่มีการคุ้มครองเงินฝากของประชาชน

เป้าหมายหลักก็ตามชื่อเลยครับ คอยคุ้มครองเงินในบัญชีของเราทั้งหลาย

ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คุ้มครองในสถาบันการเงินถึง 35 แห่ง ครอบคลุมธนาคารใหญ่ๆ ทั้งหมดด้วย

 

คุ้มครองอย่างไร??

สมมติว่าสถาบันการเงินสักแห่งหนึ่ง มีปัญหาต้องปิดตัวลงไป

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ก็การันจ่ายเงินฝากตามที่คุ้มครองให้กับประชาชนภายใน 30 วัน

จากนั้นก็ค่อยเข้าไปเคลียร์จัดการบัญชี ทรัพย์สินต่างๆ ของสถาบันการเงินที่มีปัญหา โดยอาจจะเอามาขายทอดตลาดเพื่อชดเชยอะไรก็ค่อยว่ากันภายหลัง

นั่นหมายความว่า แทนที่จะให้ประชาชนรับความเสี่ยง ไปฟ้องเอากับสถาบันการเงินเอง

สถาบันคุ้มครองก็จะมาเป็นตัวกลาง จ่ายเงินให้ แล้วไปเคลียร์ปัญหาให้แทนนั่นเอง

 

การคุ้มครองวงเงินที่เปลี่ยนไป…

เมื่อก่อนนั้นมีวงเงินคุ้มครอง 25 ล้านบาท แต่หลังจากการประกาศใช้ “พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2559”

ทำให้การคุ้มครองเงินฝากจะลดเป็นขั้นๆ ลงไปดังนี้

11 สิงหาคม 2558 – 10 สิงหาคม 2559  คุ้มครองเงินฝาก 25 ล้านบาท

11 สิงหาคม 2559 – 10 สิงหาคม 2561  คุ้มครองเงินฝาก 15 ล้านบาท

11 สิงหาคม 2561 – 10 สิงหาคม 2562  คุ้มครองเงินฝาก 10 ล้านบาท (ปัจจุบัน)

11 สิงหาคม 2562 – 10 สิงหาคม 2563 คุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาท

หลังจาก 11 สิงหาคม 2563 คุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท

 

ทำไมต้องลดวงเงินคุ้มครอง??

สถาบันคุ้มครองเงินฝากชี้แจงว่า นโยบายของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือต้องคุ้มครองให้ได้อย่างน้อย 90% ของประชาชนทั้งหมด

ทีนี้.. คนไทยที่ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น มีสัดส่วนถึง 99% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด

แสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่ มีบัญชีเงินฝาก แต่เงินในบัญชีก็ไม่ได้สูงอะไรมาก

 

การกำหนดตัวเลข 25 ล้านบาท  15 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท นั้นไม่สามารถครอบคลุมคนไทยที่มีเงินฝากได้ตามเป้า

การปรับลดลงมาเหลือ 1 ล้าน จะทำให้คุ้มครองได้ถึง 98% ของประชาชนทั้งระบบด้วย

 

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา…

แน่นอนว่าการคุ้มครองเงินฝาก จะส่งผลให้ประชาชนมี “ความเชื่อมั่น” ต่อสถาบันการเงินมากขึ้น

อย่างที่เห็นว่าเวลาเกิดวิกฤตหลายๆ ครั้ง สถาบันการเงินต่างๆ ขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน

พอเกิดปัญหาแบบนั้น ประชาชนก็เสียความเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน แห่ไปรุมถอนเงินออกมา

ยิ่งแห่ไปถอน ก็ยิ่งทำให้ขาดสภาพคล่องไปอีก และยิ่งจะส่งผลให้วิกฤตของสถาบันการเงินนั้นแย่ลงไป

 

แต่ในขณะเดียวกัน การคุ้มครองวงเงินฝากที่ลดลง นั่นเป็นการกระตุ้นทางอ้อมให้คนหันมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

หรือไม่ก็ไปนำเงินไปทำธุรกิจ ไปลงทุนในแหล่งอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินเฉยๆ

โดยเฉพาะยอดเงินที่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะไม่มีอะไรมาคุ้มครองอีกแล้วในอนาคตนั่นเอง…

 

 

ที่มา:

http://www.dpa.or.th/ewt_news.php?nid=1088

http://www.dpa.or.th/ewt_news.php?nid=1088

http://www2.bot.or.th/statistics/ReportPage.aspx?reportID=188&language=th

www.voicetv.co.th/read/486735

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...