Facebook
Twitter
LINE

ประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน

ย่อมมีความต้องการบริโภคอาหารปริมาณมหาศาล

โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่ผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของคนในประเทศ

ในแต่ละปี จีนต้องนำเข้าข้าวมากถึง 5,500,000 ตัน

กลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก…

 

ซึ่งนั่นทำให้จีน พยายามหาวิธีเพิ่มผลผลิตของข้าวภายในประเทศมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต หรือการวิจัยสายพันธ์ุใหม่ๆ

และอีกทางที่น่าสนใจก็คือ “การสร้างพันธุ์ข้าวทนน้ำเค็ม”

ซึ่งมีการวิจัยมานานถึง 40 ปี และฝันนั้นได้กลายเป็นความจริงแล้ว!!

 

ทำไมต้องวิจัยพันธุ์ข้าวทนน้ำเค็ม??

ที่จริงแล้วข้าวทนเค็ม มีการปลูกในบางพื้นที่ อย่าง บังกลาเทศ อินเดีย หรือไทยเองก็มีสายพันธุ์หอมมะลิ 81

แต่ข้อเสียของบางพันธุ์ก็คือ ผลผลิตที่ได้ยังต่ำ หรือต้นข้าวมีความต้านทานโรคน้อยลง

ทำให้การปลูกไม่คุ้มทุนสักเท่าไรนัก

เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่ดินเค็ม บริเวณที่ราบปากแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำฮวงโห รวมกันถึง 625 ล้านไร่

ซึ่งถ้ามันไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก มันก็เท่ากับพื้นที่สูญเปล่า

ลองคิดดูว่ามันใหญ่ขนาดไหน??

เมื่อเทียบกับประเทศไทยทั้งประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 300 ล้านไร่

ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวในไทยมีประมาณ 60 ล้านไร่

เท่ากับว่าจีนมีพื้นที่ว่างซึ่งยังใช้ปลูกไม่ได้ สูงกว่าพื้นที่ปลูกทั้งหมดของไทยประมาณ 10 เท่า!!

 

การวิจัยตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน

ในช่วงยุค 1970 มีการเริ่มวิจัยพันธุ์ข้าวทนเค็มโดย “หยวน หลงปิง”

ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็น Father of Hybrid Rice หรือบิดาแห่งข้าวพันธุ์ผสมของจีน

ภายหลังการวิจัยอย่างยาวนาน ที่ศูนย์วิจัยเมืองชิงเต่า เมืองริมทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศ

ผ่านการทดลองปลูกข้าว 200 ชนิด เป็นระยะเวลาหลายสิบปี

ในที่สุดเมื่อปี 2017 พวกเขาก็ประกาศความสำเร็จของการพัฒนาข้าวทนเค็มได้ 4 สายพันธุ์

ซึ่งนอกจากจะให้ผลผลิตปริมาณสูง 750 – 1,400 กิโลกรัมต่อไร่แล้ว

ข้าวเหล่านี้ยังทนโรค กลิ่นหอมขึ้น มีปริมาณแคลเซียมสูงกว่าปกติ

แถมยังบอกอีกว่า ข้าวน้ำเค็ม-น้ำกร่อย จะไม่มีแมลงรบกวน เนื่องจากแมลงกับน้ำกร่อยเป็นของไม่ถูกกัน

 

หยวน หลงปิง

 

นำข้าวน้ำเค็มออกวางขายในเชิงธุรกิจ

ศูนย์วิจัยดังกล่าวนอกจากทดลองสายพันธุ์ข้าว ก็ยังนำข้าวเหล่านั้นออกไปขายจริงๆ ด้วยเช่นกัน

แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่ยังสูงอยู่ ทำให้ราคาข้าวน้ำเค็มสายพันธุ์ใหม่ วางขายที่กิโลกรัมละ 240 บาท

สูงกว่าราคาข้าวโดยทั่วไปในท้องตลาดถึง 8 เท่า!!

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นของใหม่และมีลูกค้าอยากจะลอง รวมถึงอยากสนับสนุนการวิจัยนี้ต่อไป

ก็ทำให้มียอดสั่งซื้อนับพันออเดอร์ เข้ามาในเวลา 4 เดือนหลังจากวางจำหน่าย

และส่งผลถึงรายได้ของการขายข้าวน้ำเค็มในปีที่แล้ว ซึ่งจะสูงถึง 50 ล้านบาทเลยทีเดียว!!

 

การนำข้าวน้ำเค็ม ไปเลี้ยงประชากรในอนาคต…

การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยข้าวดังกล่าว

ก็มีเป้าหมายเพื่อให้ข้าวทนเค็ม สามารถเอาไปปลูกได้จริงในพื้นที่ดินเค็ม 625 ล้านไร่ที่กล่าวไปข้างต้น

แม้ปัจจุบันประเทศจีน จะเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณปีละ 200 ล้านตัน

แต่ความต้องการบริโภคของคนในประเทศยังคงมีสูงกว่า

ทำให้การนำเข้าปีละ 5.5 ล้านตัน ก็เป็นอันดับ 1 ของผู้นำเข้าทั่วโลกด้วยเช่นกัน

 

ลองคิดเล่นๆ ว่าพื้นที่ไร้ประโยชน์ 625 ล้านไร่นั้น สามารถปลูกได้จริงสัก 60 ล้านไร่ (ประมาณ 10%)

สมมติเฉลี่ยข้าวพันธุ์ใหม่ได้ผลผลิตไร่ละ 1 ตัน

จะมีการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านตัน

ซึ่งนั่นจะสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคของผู้คนได้ถึง 200 ล้านคน

และยังตอบรับกับการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย!!

 

ประเทศนำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก (หน่วย: พันตัน)

 

จากประเทศจีน ย้อนกลับมายังประเทศไทย

หากจีนผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคของคนในประเทศ

ย่อมส่งผลกับพ่อค้ารายหลัก 3 เจ้าทั้งเวียดนาม ไทย และกัมพูชา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ลองจินตนาการถึงเคสที่รุนแรงที่สุดในอนาคตก็คือ “จีนไม่ต้องนำเข้าข้าวสารอีกต่อไป”

สำหรับประเทศไทยเอง มีอัตราส่งออกข้าวปีละประมาณ 10 ล้านตัน

ลูกค้าหลักจะเป็นประเทศเบนิน, จีน, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย

โดยในปี 2017 เป็นการส่งออกไปยังจีน 1.1 ล้านตัน

คิดเป็นประมาณ 11% ของยอดการส่งออกทั้งหมด

 

เรื่องนี้อาจจะมองได้สองแง่

มองในแง่ร้ายก็คือ รายได้จากการส่งออกข้าวไทย จะหายไปถึง 11%

คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือ ไทยไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งในการส่งออกข้าวมากจนเกินไป

เพราะฉะนั้นหากในอนาคต จีนลดปริมาณสั่งซื้อลงจริงๆ

ไทยก็จำเป็นต้องไปหาตลาดอื่นที่จะมาทดแทนปริมาณที่หายไปนี้เช่นกัน

หรือไม่ก็อาจจะต้องลดปริมาณการปลูกข้าวในประเทศลง

แล้วไปพัฒนาการเกษตรหรืออุตสาหกรรมในด้านอื่นมาทดแทน

ในประเด็นนี้ หลังจากได้อ่านแล้วมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง ร่วมคอมเม้นต์มากแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ…

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.rt.com/business/407629-china-rice-grow-salt-water/

www.lokwannee.com/web2013/?p=285565

www.scmp.com/news/china/society/article/2115250/chinese-scientists-put-rice-grown-seawater-nations-tables

www.independent.co.uk/news/rice-seawater-chinese-scientists-food-200-million-a8017971.html

www.statista.com/statistics/255948/top-rice-exporting-countries-worldwide-2011/

talk.mthai.com/inbox/401100.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Rice

money2know.com

www.worldstopexports.com/rice-imports-by-country/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...