Facebook
Twitter
LINE

 

คนไทยใช้งานโลกโซเชียลมากแค่ไหน!?

คนไทยที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำ มีประมาณ 55 ล้านคน ถือเป็นยอดการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

ยูทูบ มียอดการใช้งาน 40 ล้านคนต่อเดือน

ในขณะที่เฟซบุ๊ก มียอดการใช้งาน 51 ล้านคนต่อเดือน

 

สอดคล้องกับยอดขายทีวีในปีล่าสุดที่ลดลง -3% ทำให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่หันมาบริโภคข้อมูลผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเลต และโทรศัพท์มากขึ้น

ขณะที่ทีวี แม้จะยังมีติดบ้านกันแทบทุกหลัง แต่กำลังกลายเป็นสินค้าของคนรุ่นเก่าไปเสียแล้ว

การดูรายการสด จะต้องเป็นเรื่องที่ฮิตติดกระแสเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นั่งดูละครบุพเพสันนิวาส ในช่วงที่กระแสละครนี้บูมสุดขีด หรือกระทั่งการนั่งรอดูรายการประกวดร้องเพลงมาสก์ซิงเกอร์

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีศึกษาของรายการหน้ากากนักร้อง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ไปพร้อมกัน ยังสร้างสถิติยอดคนดูถึง 1.6 ล้านวิว!!

แสดงให้เห็นว่าคนไทยใช้สื่อออนไลน์ไม่น้อย และถ้ามีการเผยแพร่พร้อมกันทั้งทีวีและออนไลน์ พวกเขาก็พร้อมดูในช่องทางที่ตัวเองถนัด

 

เมื่อทีวีมีแนวโน้มคนดูลดลง และช่องทางออนไลน์มีคนติดตามเพิ่มอย่างมาก จึงเป็นช่องทางที่เหล่าเซเลบซูเปอร์สตาร์ทั้งหลาย หันไปทำช่องรายการของตัวเอง

หรือเป็นโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ จับเซเลบมาเป็นตัวชูโรงดึงดูดให้คนมาติดตาม

 

กรณีศึกษาของ “คุณสู่ขวัญ” และ “นิตยสารแพรว” นั้นเป็นเคสที่น่าสนใจมาก รายการพาเดินซื้อของที่มีการนำเสนอเป็นเอกลักษณ์ ทำให้คนติดตามยอดวิวทะลุล้านแทบทุกคลิป

แถมสร้างประโยคฮิตอย่าง “อุ๊ย อันนี้ก็น่ารัก..”  และ “ของมันต้องมี” กลายเป็นวลีฮิตติดหูไปทั่วเมือง

 

หรือรายการของช่อง GoodDayOfficial ซึ่งมีรายการของคุณเบน ชลาทิศ มาทำรายการอาหาร

รวมถึงการจับ 3 เซเลบนักร้อง “ตู่ ภพธร-ว่าน ธนกฤต-ทอม รูม39” มาทำรายการนอนบ้านเพื่อนด้วยกัน ตอนนี้ช่องมียอดคนติดตามกว่า 1.2 ล้านคนแล้ว

 

นี่ยังไม่รวมถึงเซเลบคนอื่นๆ อย่างเวย์ ไทเทเนียม, บร๊ะเจ้าโจ๊ก, ดีเจเพชรจ้า, คุณแอน ทองประสม และคนอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้

 

อีกหนึ่งเคสอันน่าสนใจล่าสุดก็คือรายการของ “พี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์” ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับรายการเนวิเกเตอร์ พาเที่ยวป่าเขาในวันหยุด

ล่าสุดก็จับคาแรคเตอร์ตัวเองที่คนติดภาพเป็นนักเดินป่า ทำรายการเจ้าป่าเข้าเมือง พาตัวเองไปช็อปปิ้งซื้อของให้ลูกในเมืองใหญ่บ้าง

ด้วยความเป็น “พี่ติ๊ก” เพียงแค่ปล่อยคลิปลงเฟซบุ๊กไป 12 ชั่วโมง

ก็มียอดวิว 800,000 ครั้ง ยอดไลก์ 40,000 ครั้ง ยอดแชร์ 18,000 ครั้ง

พร้อมการกดไลก์เพจอีก 37,000 ไลก์ และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นี่คือเพจที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึงวัน มีคลิปอยู่คลิปเดียว แต่เติบโตเพราะเนื้อหาน่ารัก ดูเพลิน และขายความเป็น “พี่ติ๊ก” ล้วนๆ

 

ในยุคบุกเบิกของยูทูบ เหล่าผู้สร้างคอนเท้นต์ที่เรียกว่า “ยูทูบเบอร์” ล้วนแข่งกันสร้างคอนเท้นต์ สร้างจุดเด่นของตัวเองจนมีคนติดตามมากมาย

พื้นที่ของยูทูบสมัยนั้น จึงกลายเป็นแหล่ง “แจ้งเกิด” ของคนที่นำเสนอตัวเองได้ดี หรือมีคอนเท้นต์น่าสนใจ

 

เมื่อยูทูบและโซเชียล กำลังก้าวเข้ามาเป็นสื่อกระแสหลักแทนทีวี จึงเป็นแหล่งนำเสนอคอนเท้นต์ของทั้งผู้ผลิตรายการมืออาชีพ และเหล่าดาราคนดังต่างๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เหล่าเซเลบดารา” ที่มีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว จะสามารถจุดกระแสรายการตัวเอง ให้ดังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

 

แต่นั่นหมายถึงการแย่งคนดูกันระหว่างยูทูบเบอร์และเซเลบดาราหรือไม่

สื่อโซเชียลมีข้อดีที่ต่างจากทีวีก็คือ คนดูไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ละครออกพร้อมกันระหว่างช่อง 3 และช่อง 7 ในสมัยก่อนคุณจะต้องเลือกว่าจะดูช่องไหน

แต่ยุคปัจจุบัน ถ้าคุณอยากดูทั้งรายการของพี่ติ๊ก หรือรายการคุณสู่ขวัญ คุณก็แค่ดูคนหนึ่งจบ แล้วไปค้นหาดูรายการของอีกคนเท่านั้น

 

งานนี้ก็เลยเป็นสถานการณ์ Win-Win ของทั้ง 4 ฝ่าย.. สงสัยรึเปล่าว่ามีฝ่ายไหนบ้าง!?

ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ผลิตคอนเท้นต์” ที่มีช่องทางเผยแพร่รายการและเข้าถึงคนดูมากขึ้น โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกค้าจะเลือกดูรายการคู่แข่งใหม่ที่เข้ามา

ในแง่ของ “คนดู” เราก็มีรายการเพิ่มเติมมาให้เลือกดู เพลินไปอีก

ในแง่ของ “บริษัทเจ้าของสื่อ” อย่างยูทูบ หรือเฟซบุ๊ก พวกเขาก็จะมียอดผู้ใช้งานเพิ่ม มียอดวิวเพิ่ม ดึงดูดคนมาลงโฆษณา

ในแง่ของ “ผู้ลงโฆษณา” ก็มีรายการต่างๆ มาให้เลือกลงโฆษณา เพื่อเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ง่ายกว่าเดิม

 

แม้ว่าหลายธุรกิจจะต้องปรับตัว ดิ้นรน หรือถึงขั้นเลิกกิจการเมื่ออินเตอร์เน็ตทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป

แต่ในขณะเดียวกัน อินเตอร์เน็ตก็นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ และสร้างเศรษฐีขึ้นมาอีกมากมาย

เพราะฉะนั้นคำว่า “ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ” ยังคงใช้ได้ทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นในโลกจริงหรือโลกโซเชียลก็ตาม…

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...