Facebook
Twitter
LINE

มีไม่กี่ธุรกิจหรอก ที่สามารถมีอายุได้นานกว่า 100 ปี และยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้ในระดับสูง

เพราะถ้าคุณซื้อหุ้นของบริษัท ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเมื่อปี พ.ศ.2518

ปัจจุบันหุ้นของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จะทำให้เงินลงทุนของคุณเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 235 เท่า!!

แล้วอะไรที่ทำให้บริษัทแห่งนี้ อยู่มาได้นานนับศตวรรษ แถมยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทแนวหน้าของไทย ด้วยมูลค่ากิจการ 160,000 ล้านบาท!?

เราจะพาคุณไปย้อนเรื่องราวของบริษัทค้าขายที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ผ่านบทความนี้ครับ..

 

จุดเริ่มต้นของบริษัท ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

เรื่องราวของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2425

ในเวลานั้นคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ และคุณเฮนรี่ ซิกก์ นักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ มองว่ากรุงเทพนั้นในยุคนั้นน่าลงทุนทำธุรกิจ

พวกเขาจึงหุ้นกันเปิด “ยุคเกอร์ แอนด์ซิกก์ แอนด์โก” ขึ้นในกรุงเทพฯ

พวกเขามีธุรกิจหลักเป็นการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยมุ่งเน้นไปที่สินค้าอุตสาหกรรมอย่างแร่ ไม้สัก และอุปกรณ์เดินเรือเป็นหลัก

อาจจะเพราะด้วยความสามารถในการบริหารงาน รวมถึงสายสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งราชวงศ์ไทย และกลุ่มธุรกิจในฝรั่งเศส

กิจการของพวกเขาจึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

เพียงแค่ 3 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท ยุคเกอร์ แอนด์ซิกก์ แอนด์โก ก็กลายเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าและส่งออกรายใหญ่ของสยาม

 

ต่อมาคุณอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ เสียชีวิตลงในวัย 41 ปี แต่ธุรกิจก็ยังสามารถดำเนินต่อไปในรุ่นลูกของเขา ด้วยความช่วยเหลือของนักธุรกิจชื่ออัลเบิร์ต เบอร์ลี่

ในปี พ.ศ.2467 บริษัทจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์” (ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน)

จนกระทั่งตอนจบสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกกำลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างเต็มตัว บริษัทก็เลยปรับโครงสร้างบริหารจัดการใหม่

โดยการเข้ามาจับสินค้าอุปโภคบริโภคมากยิ่งขึ้น และแบ่งแผนกต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็น แผนกสินค้าอุปโภคและบริโภค แผนกอุตสาหกรรม แผนกเภสัชกรรม และแผนกวิศวกรรม

ซึ่งการแบ่งงานที่ชัดเจน นอกจากจะสามารถทำให้สามารถดำเนินธุรกิจตามที่แต่ละแผนกถนัด ยังวางแผนให้ครอบคลุมทุกสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น

จนในปี พ.ศ.2518 เมื่อประเทศไทยเปิดตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก

BJC ก็กลายเป็น 1 ใน 8 บริษัทแรกที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในยุคใหม่

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2544

เมื่อกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC) ของมหาเศรษฐีไทย “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์

หลังจากนั้นบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ก็ได้ขยายกิจการทั้งการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค แทบจะทุกประเภท

ขาดอย่างเดียวก็คือ พวกเขามีสินค้าพร้อมสรรพ แต่ยังไม่มีช่องทางจำหน่ายของตัวเองแบบเบ็ดเสร็จ

 

นั่นนำมาสู่ดีลใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2559

บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เข้าซื้อกิจการห้างค้าปลีก Big C ด้วยเงินกว่า 200,000 ล้านบาท

ซึ่งจุดนี้น่าสนใจมาก เพราะผลประกอบการของ Big C ในปีก่อนหน้านั้น มีรายได้ 130,000 ล้านบาท และกำไรประมาณ 7,000 ล้านบาท

คำนวณแบบง่ายๆ ถ้า Big C ยังทำกำไรได้เท่าเดิม ต้องใช้เวลาประมาณ 28 ปี จึงจะคืนทุน

หรือเท่ากับว่า BJC ในตอนนั้นให้ค่า P/E กับ Big C อยู่ประมาณ 28 เท่า!!

 

แต่นั่นก็ช่วยทำให้บริษัท สามารถควบคุมช่องทางการจัดจำหน่ายได้แบบเบ็ดเสร็จ

และเพิ่มรายได้ของบริษัท ทำให้ในปี พ.ศ.2559 นั้นบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีรายได้ทะลุ 100,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก

 

รายได้ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในยุคปัจจุบัน…

การเปลี่ยนแปลงจากการนำเข้าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มาสู่สินค้าอุปโภคบริโภค

แล้วต่อยอดมาที่การค้าปลีก ก็ทำให้บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2560 บริษัทมีรายได้ประมาณ 164,000 ล้านบาท มีกำไร 5,200 ล้านบาท

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้ประมาณ 172,000 ล้านบาท มีกำไร 6,600 ล้านบาท

และในปี 2562 รายได้ประมาณ 174,000 ล้านบาท มีกำไร 7,200 ล้านบาท

 

สัดส่วนรายได้ของธุรกิจในปีล่าสุด จะแบ่งออกเป็น 4 ธุรกิจหลักๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

ธุรกิจค้าปลีก สร้างรายได้ 127,000 ล้านบาท คิดเป็น 72%

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 20,000 ล้านบาท สัดส่วน 11%

ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค 18,000 ล้านบาท สัดส่วน 10%

ธุรกิจเวชภัณฑ์ 8,800 ล้านบาท สัดส่วน 5%

 

จะเห็นได้ว่าธุรกิจหลักยังเป็นกลุ่มค้าปลีก ที่มี BigC เป็นตัวสร้างรายได้หลัก แถมยังเป็นช่องทางจัดจำหน่ายของธุรกิจอื่นๆ ในเครือ

ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ และสินค้าเวชภัณฑ์ ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ขึ้นมาใช้เองได้

จึงเรียกได้ว่าเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีธุรกิจทุกอย่างที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการผลิต มาจนถึงช่องทางจำหน่ายถึงผู้บริโภค

ระบบที่วางไว้แบบเสร็จสรรพ รวมถึงเม็ดเงินที่พร้อมจะซื้อกิจการต่างๆ เข้ามาเสริมทัพในอนาคต

เราจึงน่าจะได้เห็นบริษัทอายุร้อยปีแห่งนี้ ยืนหยัดสร้างรายได้ในระดับสูงไปอีกนานทีเดียว..

 

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

https://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=bjc

web.archive.org/web/20110726074932/http://www.berlijucker.co.th/images/th/download/publication/15_download.pdf

www.bjc.co.th/online_museum/index/1

web.archive.org/web/20110726074554/http://www.berlijucker.co.th/images/th/download/publication/16_download.pdf

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...