Facebook
Twitter
LINE

โลกอินเตอร์เน็ตนำพาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างเศรษฐีออนไลน์ขึ้นมามากมาย…

ขณะเดียวกันโลกอินเตอร์เน็ต ก็ส่งผลให้ธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องล้มหายตายจากไปด้วยเช่นกัน

นั่นทำให้เพจแนวคิดพันล้านนึกถึงหนังสือการ์ตูนที่อยู่คู่คนไทยมานานอย่าง “ขายหัวเราะ-มหาสนุก” ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น

จากหนังสือซึ่งตั้งโดดเด่นในร้านขายหนังสือเมื่อราว 10-20 ปีก่อน

ปัจจุบันร้านขายหนังสือเล็กๆ ทยอยปิดตัวลง ยอดขายสื่อสิ่งพิมพ์แบบเดิมก็ลดลง สวนทางกับสื่อออนไลน์ที่มากขึ้น

หนังสือขายหัวเราะที่เคยตั้งหน้าร้าน ปัจจุบันก็ไปตั้งรวมกับหนังสือทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ (แถมยังโดนหนังสือพิมพ์บังเสียอีก)

พลันให้นึกสงสัยว่าแล้วแบบนี้เจ้าของบริษัทขายหัวเราะเอาตัวรอดได้อย่างไร?? ธุรกิจใกล้จะเจ๊งหรือไม่!?

แต่หลังจากการศึกษาข้อมูลของบริษัท ก็ทำให้ผมรู้ว่าตัวเองคิดผิดไป…

 

 

– สำนักพิมพ์บรรลือสาส์นก่อตั้งโดยคุณบันลือ อุตสาหจิต ในปี พ.ศ.2498

– หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2516 ลูกชายซึ่งก็คือคุณวิธิต อุตสาหจิต มองเห็นถึงโอกาสของการทำการ์ตูนแก๊ก 3 ช่อง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในขณะนั้น

– จึงเป็นจุดกำเนิดของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะและมหาสนุก ซึ่งภายหลังก็โด่งดังสร้างยอดขายไปทั่วประเทศ

– เมื่อหนังสือการ์ตูนแนวนี้ขายได้ พวกเขาก็ไม่หยุดพัฒนาสร้างคาแรคเตอร์ในการ์ตูนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น  ปังด์ปอนด์ หรือหนูหิ่นอินเตอร์ กลายเป็นตัวการ์ตูนที่มีคนจดจำได้

– จึงสรุปได้เลยว่าในยุคหนังสือกระดาษนั้น จุดแข็งทั้งตัวการ์ตูนอันมีเอกลักษณ์ นักวาดการ์ตูนที่ใกล้ชิดกับแฟนคลับ และความสัมพันธ์ที่ดีกับร้านหนังสือ คือเคล็ดลับที่ทำให้หนังสือขายได้เสมอมา

 

แต่เมื่อโลกปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอล สื่อสิ่งพิมพ์ล้มหายตายจาก…

คุณวิธิต ซึ่งปัจจุบันอายุ 65 ปีแล้ว เป็นคนไม่ค่อยออกสื่อบ่อยนัก แต่กลับเข้าใจโลกยุคใหม่ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

บริษัทวางแผนพร้อมรับมือกับโลกดิจิตอล ด้วยการที่ไม่ได้พึ่งพาแต่การขายหนังสือการ์ตูนอย่างเดียวมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบันลือกรุ๊ป มีธุรกิจทั้งในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ การรับงานผลิตสื่อจากลูกค้า รวมถึงธุรกิจในแบบดิจิตอลด้วยเช่นกัน

 

1. ธุรกิจในส่วนของสิ่งพิมพ์

มีบริษัทบันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด ยังคงทำหน้าที่พิมพ์หนังสือการ์ตูนอย่าง ขายหัวเราะ มหาสนุก หนังสือในเครือบันลือบุ๊กส์ รวมถึงหนังสือในเครือของแซลม่อนบุ๊กส์ด้วย

 

2. การรับจ้างผลิตสื่อ

บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2544 เพื่อทำการผลิตสื่อแอนิเมชั่นต่างๆ ทั้งในรูปแบบ 2D และ 3D

โดยในช่วงแรกนั้นเน้นที่การจับคาแรคเตอร์ดังของเครือบันลือกรุ๊ป อย่าง ปังปอนด์ หรือ หนูหิ่น มาทำในรูปแบบของแอนิเมชั่น

พอมีผลงานที่ดีและจับต้องได้ ก็รับงานผลิตสื่อแอนิเมชั่นจากลูกค้า ซึ่งปัจจุบันก็รวมถึงสติกเกอร์ไลน์ด้วย

ในขณะที่โลกออนไลน์เติบโตขึ้น ความต้องการวิดีโอโฆษณาออนไลน์มากขึ้นตามไป

จึงแตกธุรกิจจัดตั้งบริษัทแซลม่อน เฮาส์ จำกัด ในปี พ.ศ.2557 เป็นโปรดักชั่นเฮาส์ที่ผลิตงานวิดีโอแบบครบวงจร

ซึ่งเรามักจะได้เห็นโฆษณาของบริษัทดังกล่าวผ่านทางวิดีโอไวรัลเป็นประจำ

 

3. กลุ่มคอนเท้นต์ออนไลน์

บริษัทไม่ได้นิ่งเฉยกับการเติบโตของสมาร์ทโฟนและโลกออนไลน์ เปิดช่องทางการซื้อและอ่านหนังสือการ์ตูนอย่าง “ขายหัวเราะ” ได้แทบทุกช่องทาง

ทั้งบนเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น iOS หรือ Android มีการเปิดแฟนเพจ ไลน์ ทวิตเตอร์ ให้ผู้อ่านสามารถสื่อสารและส่งฟีดแบ็คต่างๆ ได้แทนการส่งจดหมายไปถึง บก. ในยุคเก่า

นอกจากนี้ยังสร้างเว็บไซต์ Minimore เพื่อนำเสนอคอนเท้นต์ออนไลน์ไปสู่กลุ่มผู้อ่านรุ่นใหม่ ที่สนใจในเรื่องอื่นมากกว่าการ์ตูนแก๊กอีกด้วย

 

การแตกธุรกิจไปในรูปแบบต่างๆ รับมือกับโลกดิจิตอลที่เติบโตขึ้นนี้ ทำให้บริษัทเครือบันลือกรุ๊ปยังคงอยู่ได้

แม้จะเสียยอดขายของสื่อสิ่งพิมพ์บางส่วนไป แต่ก็มีรายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่เข้ามาชดเชย

เราลองศึกษารายได้ของบริษัทในเครือ จากตัวเลขกำไรขาดทุนในปีล่าสุด (ปี พ.ศ. 2560) จะพบว่า…

 

บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด

มีรายได้ 90 ล้านบาท กำไร 1.7 ล้านบาท

 

บริษัท บรรลือสาส์น จำกัด

มีรายได้ 27 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท

 

บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด

มีรายได้ 74 ล้านบาท กำไร 8.8 ล้านบาท (บริษัทแอนิเมชั่น ดูจะมีสัดส่วนกำไรดีกว่าการทำสื่อสิ่งพิมพ์มาก)

 

บริษัท แซลมอน เฮาส์ จำกัด

มีรายได้ 46 ล้านบาท กำไร 4.6 ล้านบาท (สัดส่วนกำไร 10% จากรายได้ มากกว่าการทำสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน)

 

บริษัท มินิมอร์ จำกัด

มีรายได้ 3.3 ล้านบาท กำไร 300,000 บาท

 

เมื่อรวมธุรกิจของบันลือกรุ๊ป เฉพาะที่กล่าวมา 5 บริษัทข้างต้นเท่านั้น

มียอดรายได้ในปีล่าสุดรวมกันประมาณ 250 ล้านบาท และกำไรอยู่ที่ 16 ล้านบาท!!

 

บันลือกรุ๊ป ให้ข้อคิดอะไรกับเรา!?

ผมค่อนข้างเชื่อว่าถ้าวันนี้บริษัทยังคงยึดอยู่แต่กับการพิมพ์หนังสืออย่าง “ขายหัวเราะ-มหาสนุก” ออกมาขาย

บริษัทก็อาจจะเป็นเหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์หลายเจ้า ที่กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยลง

 

แต่การมองภาพของอนาคตให้ออก ว่าโลกดิจิตอลกำลังมาแล้วเราต้องปรับตัว เหมือนกับตอนที่คุณวิธิตมองว่าการ์ตูนแก๊กสามช่องจะขายได้เมื่อ 45 ปีก่อน

นั่นทำให้บริษัทเตรียมพร้อมรับมือ แตกธุรกิจออกไปยังรูปแบบต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับงานเดิม

 

เพราะฉะนั้น “การรู้จักปรับตัว” น่าจะเป็นคำสั้นๆ ใช้เรียกกลยุทธ์หลักของบริษัท ที่ทำให้บันลือกรุ๊ปยังคงอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่งในทุกวันนี้ก็เป็นได้

คุณคิดว่าอย่างไรครับ!?

 

 

ที่มา:

ภาพโดยเพจขายหัวเราะ

http://datawarehouse.dbd.go.th

www.brandbuffet.in.th/2016/07/banlue-group-content-provider/

positioningmag.com/1154505

www.banluegroup.com/#!/banlue

kaihuaror.com

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...