Facebook
Twitter
LINE

เคยได้ยินเรื่องราวของ “บริษัท บี.กริม” กันมาก่อนรึเปล่า!?

หลายคนอาจจะรู้จัก บี.กริม ในฐานะบริษัทผลิตไฟฟ้าที่มีรายได้มากกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท

หรือรู้จัก “คุณฮาราลด์ ลิงค์” เจ้าของบริษัท ในฐานะเศรษฐีระดับท็อปเมืองไทย กับทรัพย์สินกว่า 75,000 ล้านบาท

แต่ทราบกันหรือไม่ว่า บริษัทซึ่งมีอายุกว่าร้อยปีนี้ เดิมทีก็ไม่ได้ทำธุรกิจด้านพลังงานมาตั้งแต่ต้น

กลับเป็นธุรกิจ “ห้างขายยา” ต่างหากล่ะ..

เริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่า บริษัท บี.กริม เปลี่ยนกิจการจากห้างขายยา มาเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าได้อย่างไร..?

 

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของบริษัท

เรื่องราวของบริษัท บี.กริม เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2421

เมื่อชาวยุโรปสองท่าน คุณ แบร์นฮาร์ด กริม เภสัชกรชาวเยอรมัน และคุณแอร์วิน มุลเลอร์ นักธุรกิจชาวออสเตรีย ได้มีโอกาสมาประเทศไทย

เมื่ออยู่ไปได้สักระยะ จึงเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจ พวกเขาจึงจับมือก่อตั้งบริษัท บี.กริม ขึ้น

และเปิดเป็นห้างขายยาที่ชื่อว่า “สยามดิสเป็นซารี่” ซึ่งเป็นร้านยาสมัยใหม่แห่งแรกในไทยอีกด้วย

พวกเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนถึงกับเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “เภสัชกรหลวงแห่งราชสำนักไทย” ในสมัยรัชกาลที่ 5

การได้รับเกียรติจากราชวังในเวลานั้น ทำให้บริษัท บี.กริม ได้มีโอกาสสนิทสนมและทำงานร่วมกับบุคคลระดับสูงในสมัยนั้น

เปิดทางให้ห้างสยามดิสซารี่ ไม่ได้เป็นแค่ห้างขายยาธรรมดาอีกต่อไป

แต่ยังนำสินค้าอื่นๆ จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กระเบื้อง เคมีภัณฑ์ หรือสินค้าสมัยใหม่อย่าง “แว่นตา” มาขายในห้างได้ด้วย

 

คุณแบรนด์อาร์ด กริม และคุณนายแอร์วิน มุลเลอร์

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 บริษัท บี.กริม ได้รับเภสัชกรชาวเยอรมัน “คุณอดอล์ฟ ลิงค์” มาร่วมงานอีกคน

การมาของเภสัชกรที่เก่งกาจคนนี้ ก็มีส่วนช่วยให้บริษัทต่อยอดความสำเร็จออกไปได้อีก

แต่ความรุ่งเรืองในเวลานั้น กลับถูกคั่นด้วยเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคิดว่าเกิดขึ้นมา..

 

ภัยเพลิงสงคราม กระทบธุรกิจเข้าเต็มๆ

ในปี พ.ศ. 2457 คุณอดอล์ฟ ลิงค์ได้ซื้อต่อกิจการทั้งหมดของ บี.กริม ทำให้เขากลายเป็นเจ้าของธุรกิจเต็มตัว

แต่ปัญหาก็มาพอดี เมื่อในปีเดียวกันนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น

ในเวลานั้นเยอรมนีกำลังรบกับอังกฤษ บริษัท บี.กริม ซึ่งเป็นบริษัทของคนเยอรมัน จึงต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

คุณอดอล์ฟ ลิงค์ ภรรยา และลูกๆ ต้องถูกส่งไปค่ายกักกันในประเทศอินเดีย ในขณะที่ธุรกิจแม้จะดำเนินต่อไป แต่ก็อยู่ในสภาพที่แทบจะหยุดนิ่ง

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 หลังจากธุรกิจเกือบจะหยุดนิ่งไปเป็นเวลานาน

คุณอดอล์ฟ ซึ่งในที่สุดก็ได้กลับมาไทย หวังดำเนินธุรกิจต่อ

แต่ราวกับโชคเล่นตลก พวกเขาก็ต้องพบกับภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกครั้ง จนธุรกิจของพวกเขาแทบจะต้องหยุดไปอย่างสิ้นเชิง

 

จากห้างเภสัช สู่อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า

ว่ากันว่า เมื่อธุรกิจต้องเผชิญกับความเลวร้ายของสงครามถึง 2 ครั้ง คงไม่มีอุปสรรคอะไร ที่จะเลวร้ายไปกว่านั้นแล้ว

ในช่วงปี พ.ศ. 2492 หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ลูกชายทั้งคู่ของคุณอดอล์ฟ ลิงค์ ได้ตัดสินใจที่สร้างชื่อเสียงของ บี.กริม ให้กลับมาอีกครั้ง

โดย “คุณเฮอร์เบิร์ต” ผู้เป็นพี่ ได้กลับมาดูแลบริษัทหลักในประเทศไทย

ในขณะที่ “คุณเกฮาร์ด” ผู้เป็นน้องชาย ดูแลเรื่องการขยายกิจการในทวีปยุโรป

พวกเขาสังเกตเห็นว่า ด้วยยุคสมัยที่ผ่านไป การจะทำธุรกิจห้างเภสัชกรรมอย่างเดียวกันก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ดี

 

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2507 สองพี่น้องจึงขยายธุรกิจของพวกเขาด้วยการเพิ่มไปยังธุรกิจอื่นๆ

อย่างเช่น แผนกอุปกรณ์การแพทย์ วิศวกรรม โทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่ “การผลิตไฟฟ้า” เข้าไปในธุรกิจของ

 

จนกระทั่งภายหลัง “คุณฮาราลด์ ลิงค์” บุตรชายของคุณเกฮาร์ด ได้เดินทางมาช่วยลุงของเขาดูแลกิจการในประเทศไทย

เขามาพร้อมกับความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจ บี.กริม ในประเทศไทยให้ใหญ่โตยิ่งขึ้น

จากนั้นก็ได้ช่วยขยายอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุน จนบริษัทเติบโตขึ้นได้ตามที่ตั้งใจ

 

และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด ก็ดำเนินการในรูปแบบบริษัท “โฮลดิง” หรือการถือหุ้นในบริษัทด้านการผลิตไฟฟ้า ทั้งในและต่างประเทศ

ก่อนที่จะทำการจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อประมาณสามปีที่ผ่านมา..

 

คุณฮาราลด์ ลิงค์

 

รายได้ของบริษัท บี.กริม

ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของบริษัท จะมาจากการขายไฟฟ้าเป็นหลัก

ซึ่งก็คือ การผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% และขายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ประมาณ 23% ของรายได้ทั้งหมด

ที่เหลืออีกเล็กน้อย ก็คือรายได้จากการขายไฟในต่างประเทศ ขายไอน้ำ หรือบริการด้านไฟฟ้าอื่นๆ

 

ซึ่งถ้านับย้อนหลังไป 3 ปีล่าสุด รายได้ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นดังนี้..

ในปี 2560 ทำรายได้ประมาณ 31,900 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 2,100 ล้านบาท

ในปี 2561 ทำรายได้ประมาณ 37,200 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 1,800 ล้านบาท

ในปี 2562 ทำรายได้ประมาณ 46,600 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 2,300 ล้านบาท

ผลกำไรนี้ทำให้ในปัจจุบัน บริษัท บี.กริม ถูกซื้อขายในตลาดหุ้นที่ค่า P/E ประมาณ 70 เท่า และมีมูลค่ากิจการสูงถึง 138,000 ล้านบาท

 

สุดท้ายนี้.. เรียกได้ว่า บริษัท บี.กริม ก็เป็นอีกธุรกิจที่ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามากพอสมควร

จนเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า “ธุรกิจก็ต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ” ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดก็ตาม

เพราะถ้าในอดีต บริษัทแห่งนี้ยังคงดันทุรังเป็นร้านยาเพียงอย่างเดียว ไม่มีการปรับตัว

ทุกวันนี้ เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นบริษัทอยู่ยาวนานมาจนอายุ 142 ปีก็เป็นได้

นับเป็นข้อคิดที่น่าสนใจมากทีเดียว..!!

 

เคยได้ยินเรื่องราวของ "บริษัท บี.กริม" กันมาก่อนรึเปล่า!? หลายคนอาจจะรู้จัก บี.กริม…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2020

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา

www.bgrimmgroup.com/history/

www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=BGRIM

forbesthailand.com/people/cover-story/harald-link.html

www.forbes.com/sites/forbesasia/2015/04/01/a-link-to-history/

www.reuters.com/article/thailand-power-ipo-idUSL3N0YH30420150526

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...