Facebook
Twitter
LINE

เพจแนวคิดพันล้าน ขอเขียนเรื่องตลาดกาแฟในไทย ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาท

แต่ถ้าแยกเป็นเฉพาะร้านกาแฟและคาเฟ่ จะมีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาทในปี 2021

ถ้าถามว่าเจ้าไหนเป็นรายใหญ่ คงต้องหยิบสองแบรนด์ดังอย่าง “Amazon & Starbucks” มาแบทเทิลกันสักเล็กน้อย

ในปี 2017 Amazon ทำยอดขายรวม 10,256 ล้านบาท

Starbucks ในไทย ทำยอดขายรวม 7,006 ล้านบาท

ถ้ามองเรื่องยอดขาย ก็ห่างกัน 46% แต่นั่นไม่ใช่ตัวเลขที่เราจะวัดกันตรงๆ อย่างเดียว

 

เพราะ Amazon มีกว่า 2,000 สาขาทั่วไทย ขณะที่ Starbucks มี 336 สาขา ซึ่งทำให้เรามองเห็นกลยุทธที่ต่างกันไป

Amazon ขายความสะดวก หาซื้อง่าย ขยายสาขาไปทั่วทุกปั๊มน้ำมัน ปตท. ราคาไม่แพงมาก เป็นที่พักของเหล่านักเดินทาง

ขณะที่ฟาก Starbucks ขายความพรีเมียม สาขาน้อย แต่ทำกำไรต่อสาขาได้เยอะ เป็นทางเลือกของเหล่ามนุษย์ทำงานในเมือง

 

 

แต่สงครามยักษ์ชนยักษ์นี้ ไม่ได้มีเพียง 2 เจ้าอีกต่อไป!!

เมื่อขาใหญ่ในประเทศไทยอย่าง CP All ก็มองเห็นโอกาสทำกำไรในธุรกิจกาแฟ เข้ามาเล่นกับเขาด้วยเหมือนกัน

นอกจาก All Cafe ที่มีอยู่กว่า 5,000 สาขาตามร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศแล้ว

ยังมีแบรนด์อื่นๆ อย่าง Kudsan, All Cafe Gold, Arabitia, กาแฟมวลชน, Jungle Cage, Bellinee’s ครอบคลุมตั้งแต่ตลาดล่างยันตลาดพรีเมียม

รวมกันวันนี้ก็มีทั้งหมดกว่า 6,000 ร้านตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย พร้อมตั้งเป้าจะขยายไปอีกหลายพันแห่ง

นี่ยังไม่นับรวม True Coffee ที่ทาง CP ก็เป็นเจ้าของแบบอ้อมๆ อยู่อีกเกือบ 300 สาขา

จะเรียกว่ารายใหญ่อีกราย ก็คงพูดได้เต็มปาก

 

นี่จึงกลายเป็นสงครามยักษ์ใหญ่ระหว่าง Amazon vs Starbucks vs CP All สงคราม 3 ก๊กกาแฟในไทย ที่จะสู้กันไปอีกเป็น 10 ปี

 

กลยุทธและจุดแข็งของแต่ละฝ่าย

เราลองมาวิเคราะห์เล่นๆ ครับ ว่าแต่ละกองทัพมีจุดเด่นอะไรกันบ้าง!?

 

Amazon ร้านกาแฟที่ทำยอดขายสูงสุดในไทย

– ขายกาแฟในราคาระดับกลาง 35-70 บาท

– สามารถเปิดสาขาตามการขยายของปั๊ม ปตท. ที่ปัจจุบันมี 1,700 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2,500 แห่งในอีก 4 ปีหน้า

– ตอนแรกมีแต่ในปั๊ม ช่วงหลังปิดจุดอ่อนเรื่องที่ตั้ง ด้วยการขยายเข้าไปตามห้างและย่านสำคัญต่างๆ เพื่อชนกับคู่แข่งโดยตรง

– ปตท. ผลักดันเต็มที่ ขยายสาขาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้มีประมาณ 120 สาขาในต่างประเทศ

 

Starbucks เจ้าตลาดกาแฟพรีเมียม

– ขายกาแฟพรีเมียม ราคา 90-180 บาท

– จุดแข็งและจุดขาย คือความเป็นเบอร์ 1 ของกาแฟพรีเมียม ลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์สูง พร้อมกับดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่เสมอ

– เมื่อโดนคู่แข่งมาตีตลาดในห้าง ทาง Starbucks จึงแก้เกมด้วยการดีลกับ Esso เพื่อเปิดในปั๊มน้ำมัน ตอนนี้มี 3 สาขา และเตรียมเปิดเพิ่ม จากปั๊มที่มีกว่า 500 สาขาในไทย

– เติบโตในระดับที่น่าพอใจมาก ช่วง 4 ปีหลังมานี้ รายได้ของ Starbucks โตขึ้นตลอดที่ 19%, 25%, 20% และ 16%

 

CP All ลุยตลาดกาแฟทุกระดับ

– มีแบรนด์กาแฟอยู่หลายแบรนด์ ขายทุกระดับราคาตั้งแต่ 25 ไปจนถึง 100 บาท

– มีร้าน 7-Eleven มากกว่า 10,000 สาขาในไทย สามารถเพิ่มสาขาร้านกาแฟได้โดยง่าย เพียงแบ่งโซนในร้านสะดวกซื้อมานิดหน่อย

– ส่งผลถึงการจัดโปรโมชั่นใหม่ๆ เพื่อเรียกลูกค้า สามารถทำได้โดยง่ายด้วยการจัดร่วมกับบริษัทในเครือที่มีอยู่

– ธุรกิจอื่นๆ ในเครือ ยังช่วยเกื้อหนุนกันตั้งแต่ระดับต้นน้ำ มาจนถึงปลายน้ำ ทำให้ต้นทุนจะถูกลงกว่าคู่แข่ง

 

 

ตลาดกาแฟไทย ยังโตได้อีกจริงหรือ!?

จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่าคนไทยยังดื่มกาแฟเฉลี่ยคนละ 200 แก้วต่อปี

น้อยกว่าหลายประเทศอย่างเวียดนาม 300 แก้วต่อปี ญี่ปุ่น 400 แก้วต่อปี หรือนอร์เวย์ 1,000 แก้วต่อปี

จึงมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟไทยยังโตได้อีกมากในอัตราประมาณ 10-15% ต่อปี

 

ความเห็นของเพจ “แนวคิดพันล้าน” คิดว่าการสู้รบปรบมือของรายใหญ่ทั้ง 3 เจ้า  รวมรายใหญ่รองลงมาในตลาดกาแฟที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง

ทั้ง อินทนิล คอฟฟี่ ของบางจาก, กาแฟสดชาวดอย หรือกาแฟแบล็คแคนย่อน ก็พร้อมจะขยายเพิ่มเช่นกัน

นั่นทำให้รายย่อยอาจจะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว หา “จุดเด่น-จุดขาย” ที่ทำให้ลูกค้ายังคงตัดสินใจซื้อของเรา

 

เพราะในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ และตลาดที่เติบโตก็ยังมีช่องว่างให้ปลาเล็กปลาน้อยเข้าไปหากิน

เพียงแต่คุณจะเป็นปลาเล็กที่ว่ายช้าไม่ได้ เพราะปลาใหญ่ยุคนี้ไม่ได้อืดอาด แต่ว่ายเร็วจนน่ากลัวเหมือนกัน

และตลาดร้านกาแฟในวันนี้คงไม่เริ่มต้นง่ายเหมือน 10-15 ปีที่แล้วแน่ๆ…

คุณล่ะครับ คิดว่าอย่างไร!?

 

ที่มา:

www.marketingoops.com/news/biz-news/cafe-amazon-2/

www.prachachat.net/marketing/news-205538

https://www.euromonitor.com/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...