Facebook
Twitter
LINE

นี่คือเรื่องราวของสายการบินแห่งชาติที่ขาดทุนทุกปี ถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายถึง 3 ครั้ง

เรื่องนี้มีอะไรน่าสนใจ!? แล้วให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง!? มาติดตามไปพร้อมๆ กันครับ…

 

ภาพ: Yogi Chan

 

1. สายการบินแห่งชาติ ที่ไม่ทำกำไร

Alitalia คือสายการบินประจำชาติของอิตาลี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1946

ในช่วงหลังสายการบินแห่งชาตินี้ขาดทุนแทบทุกปี ปัญหาหลักๆ ก็คือค่าใช้จ่ายที่สูง จะปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไรก็ลำบาก เพราะสหภาพแรงงานไม่ยอมเสียผลประโยชน์

ทำให้รัฐบาลอิตาลีซึ่งเป็นเจ้าของ ก็ต้องคอยนำเงินไปอุดหนุนอยู่ตลอด

ส่วนรัฐบาลอิตาลี ก็ใช่ว่าจะร่ำรวยอะไรนัก ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตอนปี 2008 พวกเขามีหนี้สูงถึง 106% ของจีดีพี

(เทียบให้เห็นภาพชัดๆ รัฐบาลไทยมีหนี้ประมาณ 40% ของจีดีพี เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว)

ซึ่งพอเกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐ ตามมาด้วยวิกฤติหนี้ของประเทศยุโรป อิตาลีซึ่งไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้กับ EU ได้ตามปกติ ก็เลยขอพักชำระหนี้

ทาง EU ก็เลยยื่นข้อเสนอสำคัญอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลต้องเลิกอุดหนุนสายการบินที่ขาดทุน.. และนั่นทำให้ Alitalia เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย

 

2. เปลี่ยนมือจากรัฐบาล สู่เอกชน..

หลังจากล้มละลาย นักลงทุนที่สนใจจะมาเซ้งต่อสายการบินนี้ ก็ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า CAI ขึ้นมา เพื่อเข้าซื้อกิจการด้วยเงินประมาณ 48,000 ล้านบาท (ค่าเงินในตอนนั้น)

หลังจากซื้อมา พวกเขาก็ใช้ชื่อแบรนด์ Alitalia  เหมือนเดิม แต่ประกาศตัวว่าเป็นสายการบินแห่งใหม่

ทั้งการจดทะเบียนบริษัทใหม่ ตัดเครื่องบินเก่าทิ้งไป ตัดเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร ตัดสิทธิประโยชน์ที่มากเกินไปของพนักงาน เป็นต้น

เมื่อมาอยู่ในมือเอกชนเต็มตัว และเปิดให้บริการในปี 2009

ในที่สุด Alitalia ก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้!!

เอ่อ.. บรรทัดบนนั้นไม่ใช่เรื่องจริงครับ เพราะหลังจากเปลี่ยนมือมา ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างทีมบริหาร และสหภาพแรงงานมาโดยตลอด

นำมาซึ่งการประท้วงหยุดงานครั้งแรกในปี 2010 หลังจากเปิดดำเนินงานมาได้เพียงปีเดียว

หลังจากนั้นก็มีการประท้วงของพนักงานอยู่หลายครั้ง พร้อมกับปัญหาเรื่องผลประโยชน์ที่จัดการกันไม่ลงตัว นำมาซึ่งการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

หลังจากขาดทุนรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท ในที่สุดสายการบินแห่งนี้ก็ไปต่อไม่ไหว ประกาศล้มละลายอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงปลายปี 2013

 

ตั้งแต่ 2019-2014 ก็ไม่มีปีไหนที่ทำกำไรได้เลย

 

3. ล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่… ซะเมื่อไร!?

ในเดือนมิถุนายน 2014 สายการบิน Etihad Airways ก็เติมเงินเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น 49% ใน Alitalia

ส่วนที่เหลืออีก 51% ยังคงเป็นของกลุ่มทุน CAI อยู่

หลังจากนั้นก็มีความพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ โดยเฉพาะการยกเลิกเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไรออกไปจนหมด

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังต้องเผชิญปัญหากับสหภาพแรงงาน ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอทั้งการลดเงินเดือน หรือลดคนออกไปเลย

การบริหารแบบตะกุกตะกักนี้ ทำให้สายการบินยังคงขาดทุนจนถึงปี 2017 ซึ่งเหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย

Etihad ยืนยันว่าพร้อมจะอุดหนุนอีก 70,000 ล้านบาท เพื่อให้สายการบินยังคงเดินหน้าต่อไปได้

แต่ต้องแลกด้วยการยอมลดพนักงาน 1,600 คน จากทั้งหมด 12,000 คน ส่วนคนที่เหลือก็ต้องยอมลดเงินเดือนอีก 8%

แน่นอนว่ามันไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เพราะเมื่อคุยข้อเสนอไม่ลงตัว พวกเขาก็ปล่อยให้สายการบินแห่งนี้ล้มละลายเป็นครั้งที่สาม…

 

4. อนาคตที่ยังไร้ทิศทาง

หลังจากล้มละลายในปี 2017 คราวนี้เป็นรัฐบาลอิตาลีที่ต้องมารับภาระที่เกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว ให้สายการบินสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

ระหว่างนั้นก็หานักลงทุนรายใหม่ที่จะสนใจมาเซ้งต่อสายการบิน

มีการพูดคุยซื้อขายหลายครั้ง ครั้งที่ชัดเจนที่สุดก็คือการที่สายการบินสหรัฐฯ Delta จับมือกับสายการบินอังกฤษ EasyJet และการรถไฟอิตาลี มาเจรจาร่วมทุนซื้อสายการบินนี้ แต่สุดท้ายก็ล่มไป

หรือ China Air ซึ่งก็แสดงท่าทีว่าสนใจ แต่ก็อยากจะได้หุ้นเพียง 10% เท่านั้น

คำถามข้อสำคัญก็คือ.. ใครจะอยากได้สายการบินที่ปรับโครงสร้างได้ยาก แถมยังไม่สามารถทำกำไรได้ล่ะ!?

ประกอบกับปัญหาโควิด-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกสายการบินทั่วโลก คงจะไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่มแน่ๆ

ล่าสุดรัฐบาลอิตาลีจึงประกาศว่า พวกเขาจะเข้าซื้อกิจการให้ Alitalia กลับมาเป็นหน่วยงานของรัฐอีกครั้ง

เท่ากับว่า 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2008 มาจนถึงปี 2020 สายการบินดังกล่าวก็วนเวียนกลับมาอยู่ที่เดิม

 

บทเรียนของ Alitalia อาจจะให้แง่คิดกับเราได้หลายประการ..

บางครั้งการแก้ปัญหาที่สะสมเรื้อรัง อาจจะเป็นเรื่องยากมาก ยากจนการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาอาจจะง่ายกว่า

ต่อให้เป็นมือบริหารที่เก่งและมีแผนงานดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถทำให้พนักงานปฏิบัติตามได้ มันก็เปล่าประโยชน์

และไม่ว่าจะอยู่ในมือของใคร จะรัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม

สุดท้าย “สายการบินแห่งชาติอิตาลี” นี้ ก็ไม่สามารถทำกำไรได้อยู่ดี…

 

นี่คือเรื่องราวของสายการบินแห่งชาติที่ขาดทุนทุกปี ถึงขั้นต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายถึง 3…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2020

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

2baht.com/alitalia-bankrupt-italy/

www.businessinsider.com/coronavirus-italy-to-renationalize-alitalia-airline-under-rescue-plan-2020-3

www.nytimes.com/2017/05/02/business/italy-alitalia-airline-bankruptcy.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Alitalia

https://en.wikipedia.org/wiki/Alitalia-Linee_Aeree_Italiane

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...