Facebook
Twitter
LINE

คนไทยพร้อมรับมือกับ AI แล้วหรือยัง??

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุม World Economic Forum ในประเทศเวียดนาม

มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องความพร้อมรับมือของชาติอาเซียน กับเทคโนโลยี AI ในยุคอนาคต

ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยของเราเท่านั้น

แต่ดูเหมือนว่าชาติอาเซียนเอง ก็ยังไม่ได้ตื่นตัวกับเรื่องนี้เท่าที่ควร

เพจแนวคิดพันล้าน ขอสรุปเนื้อหาดังกล่าวมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ครับ

 

 

รายงานเรื่อง “เทคโนโลยีและอนาคตงานในอาเซียน” นั้นจัดทำโดย Cisco กับ Oxford Economics

ใจความหลักๆ ก็คือการประเมินว่าในอนาคตปี 2028 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านั้น AI จะเข้ามามีบทบาทแย่งงานคนในภูมิภาคนี้อย่างไรบ้าง

ซึ่งนอกเหนือไปจากแรงงานไทยประมาณ 4,900,000 คน ที่เสี่ยงต่อการโดนแย่งงานแล้ว

ยังมีอินโดนีเซีย 9,500,000 ล้านคน

เวียดนาม 7,500,000 ล้านคน

ฟิลิปปินส์ 4,500,000 ล้านคน

มาเลเซีย 1,200,000 ล้านคน

และสิงคโปร์ 500,000 คน

รวมเป็นโอกาสตกงานกันทั้งภูมิภาคถึง 28 ล้านคน!!

(นี่นับเฉพาะใน 6 ประเทศที่มีการทำรายงานเท่านั้น)

 

หากจะมองให้ลึกลงไป พบว่าแรงงานในอุตสาหกรรม “ภาคการเกษตร” และ “ภาคการผลิต” เป็นอาชีพที่จะถูกแย่งงานง่ายที่สุด

ไทยถูกประเมินว่าจะมีการเลิกจ้างแรงงานด้านเกษตร 1,700,000 คน

และเลิกจ้างแรงงานไร้ฝีมือในภาคการผลิต 840,000 คน

เพราะอะไร??

นั่นเพราะการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้คนเยอะ และได้ผลผลิตต่ำ

การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้ใช้คนน้อยลง ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่แรงงานไร้ฝีมือของภาคการผลิตนั้น สามารถทดแทนได้ง่ายด้วยเครื่องจักรที่ดีขึ้นได้

 

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา…

การว่างงานของคนกว่า 4,900,000 คน ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สมมติว่าทุกคนนั้นเป็นแรงงานรายได้ต่ำ เฉลี่ยประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน

นั่นคือรายได้ที่หายไปเดือนละ 4,900,000 x 9,000 = 44,000 ล้านบาท

หรือปีละ 528,000 ล้านบาท ซึ่งจะหายไปจากระบบ ไม่มีการจับจ่ายใช้สอยของคนกลุ่มนี้

เมื่อเม็ดเงินตรงส่วนนี้หายไป กำลังซื้อก็หด สุดท้ายก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจต่างๆ

พอธุรกิจในประเทศมีปัญหา สุดท้ายก็จะกลายมาเป็นปัญหาของเศรษฐกิจประเทศในท้ายที่สุด

 

 

แต่ในแง่ร้าย ก็ยังมีแง่ดี…

ตามรายงานระบุว่า แม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้หลายคนถูกแย่งงาน

แต่มันก็ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย

ธุรกิจด้านการบริการอย่างโรงแรม-ร้านอาหาร จะต้องการคนให้บริการมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจด้านการผลิตจะต้องการแรงงานฝีมือระดับสูง ในจุดที่เครื่องจักรเข้าไปทดแทนไม่ได้

รวมถึงธุรกิจด้านการค้าปลีกสมัยใหม่ที่จะเปิดมากขึ้น ก็ต้องการคนเข้าไปทำงานมากขึ้นเช่นกัน

 

แล้วเราจะเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างไร??

ก่อนจะแก้ปัญหา เราต้องทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน โดยแรงงานที่จะเสี่ยงต่อการตกงานมากที่สุด มาจาก 3 สาเหตุสำคัญก็คือ

ไร้ความรู้ด้านเทคโนโลยี, ขาดทักษะด้านการสื่อสาร-เจรจา และร้ายแรงที่สุดคือ ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เลย!!

 

พวกเขาเสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า การป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ เจ้าของธุรกิจ และตัวแรงงานเอง

เริ่มจากหน่วยงานรัฐ ต้องพัฒนาด้านการศึกษาให้แรงงานรุ่นใหม่ พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่จะเกิดใน 10 ปีข้างหน้า

ทางด้านเจ้าของธุรกิจ ไม่ควรคิดเพียงว่าแรงงานทำได้เท่านี้ แล้วจะต้องทำได้เท่านี้ตลอดไป

พวกเขาควรส่งเสริมให้แรงงานเหล่านั้นมีความรู้ด้านงานเหล่านั้นที่มากกว่าเดิม

 

สุดท้าย ที่ตัวของเราเอง นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

อะไรจะเป็นตัวตัดสินว่าเราจะได้ทำงานต่อ หรือเราจะเป็นคนที่ถูกผลักให้ออกจากงาน??

นั่นคือความสามารถที่โดดเด่นกว่า และฝีมือเฉพาะทางที่จักรกลจะยังทำเหมือนเราไม่ได้ในเร็ว

ถ้าทำงานช่าง เราก็ควรจะเป็นช่างเฉพาะทางในงานที่ซับซ้อน มีฝีมือระดับที่ยังไงบริษัทก็ต้องแย่งกันจ้าง

ถ้าเป็นผู้จัดการโรงแรม ก็สื่อสารได้หลายภาษา รวมถึงสามารถคิดวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดกับแขก ได้ดีกว่าคนอื่นๆ

หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ เราก็ต้องรู้จักใช้ข้อมูลและ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกค้า วิเคราะห์คู่แข่ง หรือสถานการณ์ธุรกิจของเราเองให้เป็น

 

มิฉะนั้น ไม่ใช่แค่ AI ที่จะมาแย่งงานเรา

แต่จะถูก “คน” ด้วยกันนี่แหละที่แย่งไปด้วย

คนที่เขาทำธุรกิจเก่งกว่า คนที่ความสามารถมากกว่า คนที่คุ้มกับค่าจ้างมากกว่า

เพราะเรามัวแต่พอใจกับปัจจุบัน ขาดการพัฒนา ไม่คิดถึงอนาคต สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนที่ “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

ในโลกธุรกิจและการทำงาน มันก็จะเป็นแบบนี้แหละครับ…

ภาพ: Mother Jones

 

 

ที่มา:

http://en.qdnd.vn/asean-community/asean-news/ai-enabled-technology-could-affect-28-million-jobs-in-asean-496800

https://english.thesaigontimes.vn/62668/ai-may-affect-28-million-jobs-in-asean.html

www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2018-09/13/c_137463742.htm

www.posttoday.com/economy/564209

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...