Facebook
Twitter
LINE

สโลแกน “หิวเมื่อไรก็แวะมา” อาจจะเปลี่ยนเป็น “หิวเมื่อไรก็ไลน์มา” ในอนาคตอันใกล้…

เมื่อมีธุรกิจบริการส่งอาหารเกิดขึ้นมากมายในช่วงหลัง

ทำให้เจ้าใหญ่ในตลาดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ต้องหาทางปรับตัวด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามีการร่วมมือกับเจ้าอื่นๆ เช่น Grab หรือ Line Man ในการส่งสินค้า

แต่จะพึ่งพาผู้อื่นตลอดไปมันก็คงไม่สะดวกสบายนัก

จะเป็นอย่างไรถ้า 7-Eleven ลงมาเล่นในตลาดเดลิเวอรี่ด้วยตัวเอง??

 

หลายคนให้ความเห็นว่า พนักงาน 7-Eleven คงจะต้องเหนื่อยมากขึ้น??

 

7-Eleven Delivery คืออะไร??

รายงานจากประชาชาติธุรกิจ ระบุว่าเบื้องต้นมีการทดลองใช้ในไม่กี่สาขา

และแม้ร้านค้าจะเปิด 24 ชั่วโมง แต่บริการเดลิเวอรี่

ยังจะทดลองใช้ในช่วง 6 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่มเท่านั้น

ขั้นตอนการใช้บริการ ลูกค้าในเขตที่กำหนด ต้องแอดไลน์ของร้าน 7-Eleven สาขานั้นเอาไว้

การสั่งของไม่ได้ใช้ระบบอะไรเป็นพิเศษ แต่ใช้วิธีการ “แชท” คุยกับพนักงานที่ดูแลแอคเคาท์ไลน์ของร้าน

ลูกค้าสามารถสั่งได้ทุกอย่างในร้าน ทั้งของใช้ ขนม อาหาร เครื่องดื่มชงสดใหม่ หรือให้พนักงานอุ่นอาหารไปให้เลยหรือไม่

ถ้าใครสั่งเกิน 100 บาท ก็แถมบริการส่งฟรีภายในเวลา 30 นาที

นอกจากนี้ยังสามารถเลือกจ่ายได้ทั้งเงินสดและแบบทรูวัลเลต (ซึ่งบริษัทก็เป็นเจ้าของระบบจ่ายเงินด้วยเช่นกัน)

 

สั่งผ่านแชทไลน์ โดยไม่ต้องใช้ไลน์แมน??

 

นี่คือการตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่…

เราน่าจะคาดเดากันได้ไม่ยากว่า เทรนด์ของ “เดลิเวอรี่” เติบโตสูงมากในช่วงหลัง

เพราะคนรุ่นใหม่ชอบความสะดวกสบายกันมากขึ้น

บางครั้งคนทำงานออฟฟิศ ก็อยากจะนั่งทำงานต่อ หรือขี้เกียจออกไปซื้ออาหารกลางวันทาน ก็อาศัยสั่งออนไลน์

ในวันหยุด เมื่ออยู่บ้านแล้วก็อยากจะพักผ่อนให้เต็มที่ ไม่อยากจะออกไปไหน ก็อาศัยสั่งอาหารมากินที่บ้านแทน

บริการส่งอาหาร ส่งของ หรือจ้างทำนู่นทำนี่ จึงผุดขึ้นมาแข่งกันเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าปี 2559 ตลาดของธุรกิจส่งอาหารมีมูลค่า 23,500 ล้านบาท

พอปี 2560 มูลค่าตลาด 26,000-27,000 ล้านบาท

และในปี 2561 นี้ ก็น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 28,000-29,000 ล้านบาทแล้ว

อัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 10-15%

ซึ่งทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดตรงนี้อาจจะสูงถึง 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย

 

ลองเทียบกับ “ธุรกิจร้านอาหาร”

ตลาดร้านอาหาร แม้จะมีมูลค่าถึง 390,000 ล้านบาท แต่ก็เติบโตขึ้นเพียง 2-4% ต่อปี

การเติบโตนี้เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ

 

นั่นหมายความว่า “ธุรกิจส่งอาหาร” มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น แถมยังมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเปิดมากกว่า “ธุรกิจร้านอาหาร” อีกด้วย

เพราะรูปแบบการบริโภคของคนยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้วนั่นเอง

 

 

การปรับตัวของ “ร้านอาหาร” ในโลกที่เปลี่ยนไป…

ร้านอาหารหลายแห่ง ที่ไม่สะดวกในการจ้างคนงานมาเพื่อส่งโดยเฉพาะ

ก็ปรับตัวด้วยการเลือกเป็นพันธมิตรกับบริการส่งอาหาร เช่น Foodpanda แทน

แต่ข้อเสียเล็กน้อยที่เกิดขึ้นคือ ค่าบริการส่งเพิ่มเติม ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้น

บางร้านเลือกเปิดบริการเดลิเวอรี่เอง จ้างคนงานมาทำ ซึ่งหลายที่พอหักลบกับค่าจ้าง ก็พบว่ามีกำไรมากยิ่งขึ้น

หรือจะยกตัวอย่างในกรณีของร้านกาแฟ Luckin Coffee ในประเทศจีน

ร้านแห่งนี้ได้รับความนิยม เพราะสามารถสั่งกาแฟและของกินผ่านแอพในโทรศัพท์มือถือ

จากนั้นสาขาที่ใกล้ที่สุด ก็จะเอาของที่สั่งไปส่งให้ลูกค้าภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที

ซึ่งแม้จะเปิดบริการมาได้แค่ 9 เดือน แต่ตอนนี้ก็มีถึง 900 สาขาแล้ว

เพราะทางร้านตั้งเป้าว่าจะเปิดไปให้มากที่สุด เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ไม่ว่าจะสั่งจากมุมใดของเมืองไหนก็ตาม

 

เพราะนี่คือโลกแห่งเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง…

ต้องยอมรับว่าหลายๆ อย่าง ทำให้การดำเนินธุรกิจสะดวกสบายขึ้น เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ เกิดเศรษฐีออนไลน์ขึ้นมากมาย

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันทำให้ “พฤติกรรมของผู้บริโภค” เปลี่ยนไปจากอดีตด้วยเช่นกัน

วันนี้คุณเข้าใจผู้บริโภคของธุรกิจตัวเองมากน้อยแค่ไหน

คุณรู้ไหมว่ามีลูกค้ากี่คนที่อยากกินไก่ทอดหาดใหญ่ร้านคุณ แต่ขี้เกียจมาซื้อเพราะอากาศร้อน

คุณรู้ไหมว่ามีลูกค้าต้องการกาแฟของเราไปเติมพลังทำงานยามบ่าย แต่ร้านอยู่ไกลไป ก็เลยซื้อเจ้าที่ไม่อร่อยแต่ใกล้ออฟฟิศแทน

 

เพราะฉะนั้น… การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคของเราเอง จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม

เหมือนกับที่ 7-Eleven เปิดบริการเดลิเวอรี่ นั่นก็เพราะพวกเขารู้ว่ากลุ่มลูกค้าหลัก คือคนที่อยาก “อิ่มสะดวก”

เมื่อเขาต้องการความสะดวก ก็เอาความสะดวกไปป้อนให้เขา

 

ธนินท์ เจียรวนนท์

 

ก่อนหน้านี้เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เคยออกมาให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า 7-Eleven จะต้องปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

โดยเฉพาะเรื่องของ “การเดลิเวอรี่” ไม่ช้าก็เร็ว ร้านก็ต้องเปิดบริการนี้

เนื่องจากโลกของธุรกิจ ถ้าร้าน 7-Eleven ไม่ทำเอง สุดท้ายก็จะมีเจ้าอื่นๆ เข้ามาทำตรงจุดนี้

แล้วก็คว้าเอา “กำไร” กับ “ความถูกใจของผู้บริโภค” ไปแทน

ถ้าเราเป็นเจ้าของร้าน เราจะเลือกแบบไหน??

เราจะเลือกทำเอง.. หรือเราจะปล่อยให้คนอื่นมาทำแทน??

 

แล้วถ้าคุณเป็นลูกค้าจะเลือกแบบไหน?? ระหว่าง

นั่งวินมอเตอร์ไซค์ 20 บาทไปปากซอย เพื่อซื้อของราคา 200 บาท

สั่งผ่านแอพอื่น ซึ่งอาจจะมีค่าบริการเพิ่มเติมมาอีก 40-50 บาท กลายเป็นเสีย 250 บาท

หรือจะสั่งผ่าน 7-Eleven สาขานั้นโดยตรง จ่ายราคาปกติ แถมมีคนมาส่งถึงหน้าบ้านฟรีๆ

คำตอบก็คงเลือกได้ไม่ยากเช่นกัน…

 

 

อ่านเพิ่มเติม:

สรุปแนวคิด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ซีพีพร้อมทำนา-เปิดร้านอาหาร-สร้างสมาร์ทซิตี้ในไทย

กรณีศึกษา Luckin Coffee ร้านกาแฟมูลค่า 30,000 ล้าน ทั้งที่เพิ่งเปิดมา 9 เดือน??

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.mxphone.net/230416-review-line-man-delivery-services/

www.prachachat.net/marketing/news-236599

www.kasikornresearch.com/InfoGraphic/Documents/2797_p.pdf

Matichon.Academy.Thailand/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...