Facebook
Twitter
LINE

จากการประเมินของ Nielsen ระบุว่าตลาดเบียร์ในประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าประมาณ 1,258,000,000,000 บาทหรือพูดให้ฟังง่ายๆ คือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท กลายเป็นเค้กชิ้นโตอีกก้อนหนึ่ง

และด้วยนโยบายของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ที่ต้องการสนับสนุนให้มีการผลิตคราฟท์เบียร์มากยิ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2012 ถึงขั้นแบ่งพื้นที่ในทำเนียบขาวทำเป็นโรงหมักเบียร์เองเพื่อเป็นต้นแบบให้คนทำคราฟท์เบียร์ทั่วประเทศ จึงทำให้มีผู้ผลิตรายย่อยหันมาประกอบธุรกิจดังกล่าวกันมากขึ้น

 

 

จากการรายงานของสมาคมผู้ผลิตเบียร์แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่าในปีล่าสุดมีผู้ผลิตรายย่อยทั่วประเทศทั้งสิ้น 5,301 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่มีอยู่ 4,548 รายมากถึง 16%

ข้อมูลระบุว่าบริษัทคราฟท์เบียร์นั้นผลิตเบียร์รวมกันในปีล่าสุดมากถึง 2,900 ล้านลิตร!!

 

ในขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของคราฟท์เบียร์ เพิ่มจาก 12.2% เป็น 12.3% แม้จะดูเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่นั่นหมายถึงรายได้ที่เกิดขึ้นมากถึง 149,600 ล้านบาทเลยทีเดียว

และยิ่งมองย้อนไปก็ยิ่งพบว่าเป็นส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับในช่วงปี 2011 ซึ่งคราฟท์เบียร์มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 5.7% เท่านั้น

 

 

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่การเติบโตและรุ่งโรจน์เสมอไป ในโลกของธุรกิจทุกอย่างย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้ ถึงแม้จะมีผู้ผลิตคราฟท์เบียร์รายใหม่มากถึง 826 รายในปี 2016 แต่ก็มีผู้ผลิตที่ปิดตัวลงไปถึง 97 ราย เพิ่มขึ้นจาก 78 รายในปี 2015 และคาดว่าปีนี้ก็จะมีจำนวนผู้ผลิตที่ปิดตัวมากไปตามสภาพการแข่งขัน

 

 

ย้อนกลับมายังประเทศไทย ปัญหาเรื่องกฎหมายบ้านเมืองและผู้ผลิตคราฟท์เบียร์เหมือนไม้เบื่อไม้เมา ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปอันลงตัวสำหรับทุกฝ่ายได้สักที

เมื่อฝ่ายผู้ผลิตระบุว่าการสนับสนุนธุรกิจคราฟท์เบียร์อย่างจริงจังจากภาครัฐ จะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ได้ผูกขาดแค่เจ้าใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า และเพิ่มทางเลือกให้กับนักดื่มในประเทศอีกด้วย

 

 

หากดูจากรายงานสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ เราก็อาจจะประมาณการณ์ได้ว่าคราฟท์เบียร์น่าจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินในธุรกิจเบียร์ของไทย ซึ่งในปี 2015 ประเมินไว้ว่าอยู่ที่ราวๆ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตลาดใหญ่ก็คือบริษัทสิงห์ คอร์เปอเรชั่น จํากัด 72% และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งที่ 24%

ทางฝ่ายภาครัฐและประชาชนบางส่วนระบุว่าการสนับสนุนคราฟท์เบียร์นั้นจะส่งเสริมให้เกิดการมอมเมาผู้คนและเกิดการดื่มเบียร์มากขึ้น

 

ขณะที่สถิติระบุว่าแม้ในช่วงหลังจะมีการประชาสัมพันธ์อย่างหนักในการรณรงค์งดดื่ม รวมถึงการงดโฆษณาเพิ่มเติมในหลายๆ ช่องทาง ตัวเลขนักดื่มเบียร์ในไทยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติบนเว็บไซต์เบียร์ดอทคอม พบว่ายอดขายเบียร์ในปี 2016 ยังเติบโตขึ้นจากปี 2015 เฉลี่ยเดือนละราวๆ 5.2%

ในขณะที่ตัวเลขสถิติในอเมริกาหลังจากมีการสนับสนุนคราฟท์เบียร์มากขึ้นในปี 2012 กลับพบว่าปี 2014 ประชากรอเมริกันกลับบริโภคเบียร์น้อยลง -0.3 ขวดเมื่อเทียบกับปี 2013

 

bk.asia-city

 

จากข้อมูลที่ผมหาได้เพียงเท่านี้ ไม่สามารถสรุุปได้ชัดเจนว่าการสนับสนุนคราฟท์เบียร์นั้นทำให้คนดื่มเบียร์ได้น้อยลง ที่จริงมันอาจจะไม่มีผลก็ได้ แต่พอจะอนุมานได้ว่าการพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โฆษณาเบียร์ ก็แทบจะไม่มีผลให้คนงดดื่มได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าคราฟท์เบียร์นั้นคือการเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เกิดเงินทุนหมุนเวียน เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น และหากทำได้สัก 10% ของส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ไทย หรีือคิดเป็นเงินราวๆ 18,000 ล้านบาท นั่นก็ถือว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะกระจายไปยังผู้ผลิตรายย่อยทั่วประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนี้ได้เช่นกัน…

 

ที่มา:

www.beveragedaily.com

www.nielsen.com

www.kirinholdings.co.jp

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...