Facebook
Twitter
LINE

“วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 คือฝันร้ายที่ยังคงลืมยากสำหรับคนไทยหลายคน

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทย ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะเป็น “ประเทศพัฒนาแห่งใหม่” ของเอเชีย

เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 10% ติดต่อกันนานนับ 10 ปี

กลายมาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถึงคราวล่มสลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ

มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่??

 

 

ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจว่ากว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องใหญ่ มันไม่ได้เกิดจากปัจจัยเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่มันคือการรวมตัวกันของความผิดพลาดและความบิดเบี้ยวหลายๆ อย่าง ที่ดำเนินไปโดยไม่มีการแก้ไข

นานวันเข้ามันก็กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอวันระเบิดเท่านั้นเอง

เหมือนเรื่องที่กำลังจะได้อ่านในบทความนี้ครับ…

 

– ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงปี 10 ปีก่อนเกิดต้มยำกุ้งนั้น เหตุผลหลักเป็นเพราะการย้ายฐานผลิตของบริษัทใหญ่ๆ มาในประเทศไทย และการส่งออกสินค้าสร้างรายได้เข้าประเทศ

– เมื่อเศรษฐกิจเติบโต ประเทศร่ำรวยขึ้น รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่อยากจะให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค

– ปี พ.ศ.2533 แนวคิด “เสรีทางการเงิน” จึงเกิดขึ้น เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเงินตราเป็นไปได้อย่างเสรี แทนที่จะจำกัดแบบเดิม

– เมื่อเศรษฐกิจไทยดี ใครๆ ก็อยากได้เงินบาท เงินบาทก็จะแพง(หรือแข็งค่าขึ้น) ซึ่งถ้าหากแข็งไปมากๆ ถึงขั้น 15-20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ สินค้าไทยก็จะแพง ส่งออกยาก

– จึงแก้ปัญหานี้ด้วยนโยบายตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไปไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

– ตัวอย่าง ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องเอาเงินบาทที่มี ไปซื้อเงินดอลลาร์มาเก็บไว้ เพื่อทำให้มีเงินบาทในตลาดเยอะขึ้น อะไรที่มันมีเยอะ ราคามันก็จะถูกลง

– ตรงกันข้ามกับเมื่อเงินบาทอ่อนค่า ก็ต้องเอาเงินดอลลาร์ในคลัง ไปซื้อเงินบาทกลับมา เพื่อให้มีปริมาณเงินน้อยลง และเงินแข็งค่าขึ้น

จุดนี้ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจให้ดีเลยนะครับ!!

 

– ทีนี้… นโยบายต่อมาก็คือ การอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดบริการวิเทศธนกิจในปี พ.ศ.2536 หรือพูดง่ายๆ ก็คือสามารถกู้เงินจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ในประเทศต่อ

– เพราะประเทศไทยขณะนั้นดอกเบี้ยในประเทศสูงราว 14-17% ต่อปี

– ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศถูกกว่าที่ประมาณ 5% ต่อปี

– เห็นช่องว่างใช่ไหมครับ?? การทำกำไรง่ายๆ ก็คือ การกู้เงินจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ต่อ ได้กำไรไปเหนาะๆ เลยเป็น 10%

– พอกู้เงินมาเยอะ ก็อยากปล่อยกู้เร็วๆ เพื่อกำไร ทีนี้มาตรฐานการพิจารณาก็ปล่อยกู้กันง่ายๆ ใครมาขอกู้มีเครดิตหน่อยก็เอาเงินไปเลย

– เงินเหล่านั้นไปไหน ก็ไปลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน คอนโด หรือกระทั่งตลาดหุ้น

– กลายเป็นยุคที่เงินหาง่าย เพียงกู้จากต่างประเทศมา ให้คนในประเทศกู้กันต่อ

– เมื่อเงินหาง่าย สินทรัพย์ต่างๆ ที่ทำออกมาก็ขายง่าย พอขายง่ายก็กำไรดี กำไรดีก็ทำมาขายต่อในราคาที่สูงกว่าเดิม ก็ยังขายได้

ทีนี้ก็ทำออกมาขายใหม่ในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ก็ยังขายได้อีก เอาเข้าไป!!

– ภาวะที่สินค้าราคาแพงกว่าความเป็นจริง นี่แหละครับที่เรียกกันว่า “ฟองสบู่”

– ทีนี้จะทำให้เสร็จแล้วขายก็ไม่ทันใจ ก็ขายใบจอง บ้างก็กู้เงินมาเพื่อซื้อใบจอง เอาใบจองไปขายทำกำไรต่อเพราะขายง่ายเป็นทอดๆ ไปอีก

– ทางฝั่งคนในตลาดหุ้น เมื่อเห็นหุ้นขึ้นเอา ขึ้นเอา ก็เกิดความโลภ จากเดิมที่เล่นด้วยเงินสด กลายเป็นเล่นด้วยเงินกู้ เพราะซื้อไปมันก็ขึ้นเรื่อยๆ

(คำว่าหุ้นตกนั้นเป็นอะไร ไม่รู้จักหรอก เป็นศัพท์ที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว)

– สินค้าต่างประเทศได้รับความนิยม เพราะคนรวยนำเข้าของหรูหราตามสมัยนิยมมาใช้กันมากมาย

 

บางส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างไม่เสร็จ

 

เห็นความบิดเบี้ยวกันได้ชัดขึ้นหรือยังครับ??

– ประเทศไทยยุคนั้นคนมีเงินเยอะขึ้น แต่เป็นการรวยไม่จริง รวยจากการกู้ยืมชาวบ้านมาแทบทั้งสิ้น

– ขณะเดียวกันประเทศก็ขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาตลอด ยอดนำเข้าเยอะกว่ายอดส่งออก ขาดทุนสะสมหลายปีติดต่อกัน

– แถมหนี้ที่กู้ยืมสถาบันการเงินต่างประเทศเป็นหนี้ระยะสั้น ที่ใกล้จะครบกำหนดชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์

– จนกระทั่งปี พ.ศ.2539 เงินที่กู้มาเรื่อยๆ ชักจะหมุนไม่ทันเสียแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศชะลอตัว โครงการใหม่ที่ขึ้นมาเริ่มจะขายไม่ออก เพราะเงินในระบบเริ่มหมด

– ความเชื่อมั่นในประเทศไทยน้อยลง เพราะเจ้าหนี้ต่างก็ไม่มั่นใจว่าไทยจะมีเงินคืนหรือไม่

– นักลงทุนต่างชาติ ก็พากันถอนทุนออกจากไทย ขายเงินบาททิ้ง เนื่องจากมองเห็นถึงความบิดเบี้ยว และมีโอกาสที่เงินบาทจะด้อยค่าไปมากกว่าเดิม

– ขณะที่กองทุนก็เห็นแผลที่กำลังเปิดอยู่นี้ พร้อมใจกันเทขายเงินบาท แถมตั้งอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ไว้ที่ 50 บาทต่อดอลลาร์

– กู้เงินมาตอน 25 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องจ่ายคืนที่ 50 บาทต่อดอลลาร์ มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

อย่างที่เกริ่นให้ทุกคนเข้าใจไปด้านบน ว่าพอหลายฝ่ายเทขายเงินบาท เงินบาทก็จะอ่อนค่า การจะตรึงราคาไว้ได้ก็ต้องเอาเงินดอลลาร์ในคลังออกมารับซื้อใช่ไหมครับ??

– ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงออกมาอุ้มปัญหาเหล่านั้นในตอนแรก ด้วยการกัดฟันสู้ ขอรับซื้อเงินบาทที่ราคา 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ต่อไป

– จากเงินสำรอง 40,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 2,500 ล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็ว เงินแทบหมดคลัง

– จะโทษกองทุนต่างชาติได้เต็มปากไหม ก็คงไม่… เพราะพวกเขาทำกำไร จากการเห็นความบิดเบี้ยวที่เราสร้างขึ้นมาเอง

จนสุดท้ายสู้ไม่ไหว ต้องยอมปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540

คนไทยที่เป็นหนี้ต่างชาติ กลายเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเกือบจะ 2 เท่าในทันที

เงินหายออกไปจากระบบ ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นตก หรือแค่โครงการสร้างไม่เสร็จเท่านั้น

แต่เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจต่างๆ เกิดการลดคน เลิกจ้าง จนถึงขั้นเลิกกิจการมากมาย

ประเทศไทยจะใช้คำว่า “เจ๊ง” ก็คงไม่ผิดนัก

 

 

และนั่นทำให้ประเทศไทย ที่หันไปทางไหนก็ไม่มีใครให้เครดิต ต้องกู้เงินจาก IMF เป็นมูลค่ากว่า 510,000 ล้านบาท เพื่อมาเป็นทุนสำรองในคลัง

รวมถึงการกู้เงิน “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน” หรือ FIDF มูลค่ากว่า 1.14 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยพยุงสถาบันการเงินไม่ให้ล้ม

 

มีนักเศรษฐศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า…

หากไทยไม่ตั้งอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ในตอนนั้น ค่อยๆ ปล่อยให้เงินบาทลอยตัวไป สถาบันการเงินก็คงจะระวังมากขึ้นในการกู้เงินมาปล่อยกู้ต่อ

หรือกระทั่งการควบคุมการปล่อยกู้ในประเทศ ไม่ให้ปล่อยอย่างง่ายดาย ลดปัญหาฟองสบู่จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

เศรษฐกิจไทยยุคนั้นก็อาจจะถดถอยจากการขาดดุลการค้า แต่เป็นในแบบค่อยเป็นค่อยไป

ไม่เหมือนกับการบิดเบือน เอาเงินมาพยุง จนกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่สายเกินแก้

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ควบคุมการปล่อยกู้ในประเทศ ปัญหาหนี้ และปัญหาฟองสบู่ต่างๆ ถูกจัดการได้ดีขึ้นหากเทียบกับในยุคก่อนหน้า

ในขณะที่หนี้ IMF ก็ชำระคืนไปจนหมด แต่นั่นเป็นเพียงก้อนเดียวเท่านั้น

เหลือเพียงแต่หนี้ของ FIDF ซึ่งผ่านมา 21 ปีจนถึงวันนี้

ยังคงมียอดหนี้เหลืออยู่สูงถึง 880,000 ล้านบาท ให้คนไทยได้รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และร่วมชำระไปจนกว่าจะหมดในที่สุด….

 

 

ที่มา:

http://dwfoc.mof.go.th/Dataservices/PublicDebtOutstanding

www.youtube.com/watch?v=vMfD8gq7aSc

https://theculturetrip.com/asia/thailand/articles/understanding-thailand-better-the-tum-yum-kung-crisis/

https://en.wikipedia.org/wiki/1997_Asian_financial_crisis

aommoney.com/stories/mrpunngern/tomyumkung-crisis-1

www.mangozero.com/tom-yam-kung-studies-museum-siam/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...