Facebook
Twitter
LINE

สภาพัฒน์ เปิดรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้ และประเมินทั้งปีอาจจะโตแค่ 0.7-1.2% เรื่องราวนี้มีอะไรที่น่าสนใจ หรือความน่ากังวลใจอะไรบ้าง? มาติดตามสรุปเป็นการเบื้องต้นครับ..

 

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงในทุกๆ ไตรมาส ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนทำให้ GDP ของไทยปีที่แล้วติดลบไปถึง -6%

ล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2564 เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเติบโตขึ้นจากช่วงไตรมาส 1 ประมาณ 7.5%

(อ่านรายงานฉบับเต็ม: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=11739 )

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของไตรมาสเดียวไม่อาจจะสะท้อนการเติบโตของทั้งประเทศ และการระบาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ทำให้สภาพัฒน์ปรับเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง

จากเดิมมีการคาดการณ์ว่าปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะโตขึ้นราวๆ 1.5-2.5% ถูกปรับลดเหลือเพียง 0.7-1.2% เท่านั้น

เพราะอะไรบ้าง?

ในจุดนี้ ทางสภาพัฒน์ให้ปัจจัยที่ส่งผลดี และปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย ไว้เป็นข้อๆ ดังนี้..

 

ภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

 

เรามาเริ่มจากปัจจัยเสี่ยงก่อน

– การระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงกว่าที่คาด จนถกเถียงกันว่าตอนนี้เราผ่านจุดสูงสุดไปหรือยัง? กำลังจะดีขึ้นหรือไม่? ความไม่แน่นอนตรงนี้คือความเสี่ยงสำคัญ

– ฐานะทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

– การส่งออกแม้จะได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนลง แต่ยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด รวมถึ

– ความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้หลายชาติใหญ่จะเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว

 

ทีนี้ เรามาดูที่ปัจจัยสนับสนุนของเศรษฐกิจไทย

– ปี 2563 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนัก ถึง -6% ตัวเลขดังกล่าวทำให้ขนาดเศรษฐกิจต่ำลง และมีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ง่ายขึ้น

– ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับการใช้จ่ายและลงทุนจากภาครัฐ ที่จะมาช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน

– รายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

– ชาติใหญ่ๆ ที่เป็นลูกค้าส่งออกหลักของไทย จัดการโควิด-19 ได้ดี และฟื้นตัวอย่างชัดเจน

 

ถึงแม้ธุรกิจการท่องเที่ยว จะไม่สามารถสร้างรายได้ในระดับเดิมจากก่อนหน้า ซึ่งเรามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท

(ลองคิดว่าตัวเลขเหล่านี้ หายวูบไปเลยในวิกฤติโควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล)

แต่ธุรกิจอื่นๆ อย่างเช่น ภาคการผลิต อุตสาหกรรม และการส่งออก นั้นยังมีหลายบริษัทที่สร้างรายได้อยู่ ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงกว่า 10% แล้วในปีนี้

หลายๆ ปัจจัยรวมกันจะยังพอเกื้อหนุน ให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ แม้จะไม่มากนักก็ตาม

 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 0.7-1.2% นี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานสำคัญต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย

– ตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดในเดือนสิงหาคมนี้ ลดลงช่วงปลายเดือนกันยายน

– ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี (ไตรมาส 4) สถานการณ์จะดีขึ้นอย่างชัดเจน มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

– ไม่มีการระบาดรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ฐานการผลิตสินค้าสำคัญ และพื้นที่ท่องเที่ยว

– การกระจายวัคซีนที่ทั่วถึง สามารถทำได้ 85 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้

 

จากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา ทำให้เกิดความกังวลอย่างหนึ่งขึ้นมาในสถานการณ์แย่ที่สุดที่เป็นไปได้ คือทั้ง 4 ข้อไม่เกิดขึ้นเลย

ซึ่งกรณีนั้น จะไม่ใช่เพียงการเติบโตเล็กน้อยที่น่ากังวล แต่จะเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจเป็นปีที่สองติดต่อกัน หลังจากปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยพึงจะหดตัว -6%

และถ้าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ นี่อาจจะเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ ต่อจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่เศรษฐติดลบสองปีติดต่อกันอีกด้วย..

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...