Facebook
Twitter
LINE

นมไทย-เดนมาร์ก หรือที่เราเรียกติดปากตามโลโก้วัวแม่ลูกว่า “นมวัวแดง” ที่เชื่อว่าแทบทุกคนเคยลิ้มลองรสชาติกันมาสักครั้งหนึ่ง

กว่า 50 ปีที่นมวัวแดงอยู่คู่คนไทยมา ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ยังคงเป็นนมอันดับหนึ่งของประเทศ แม้จะมีคู่แข่งจากต่างชาติเข้ามาตีตลาดก็ตาม

 

 

เปิดประวัตินมไทย-เดนมาร์ก

– เริ่มจาก “คุณนิลส์ ซอนเดอร์ กอร์ด” ชาวเดนมาร์กได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกับปศุสัตว์ไทย ระหว่างปี พ.ศ.2498-2502

 

– เขาเห็นว่าคนไทยดื่มนมวัวน้อยมาก ไม่เหมือนกับในเดนมาร์ก เมื่อกลับไปประเทศบ้านเกิด จึงทำแผนก่อตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมในไทย เสนอรัฐบาลเดนมาร์ก

 

– ประจวบเหมาะกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จประพาสทวีปยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2503 มีความสนพระทัยในกิจการเลี้ยงโคนมของเดนมาร์กเป็นอย่างมาก

 

– ปี พ.ศ.2504 จึงเกิดการลงนามความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างรัฐบาลเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย พร้อมเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเดนมาร์กประมาณ 24 ล้านบาทในสมัยนั้น

 

– วันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้า
เฟรเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ทำพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก อย่างเป็นทางการ

 

– พ.ศ.2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มและศูนย์ฝึกเลี้ยงโคนม พร้อมจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้น ภายใต้ชื่อ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และใช้มาถึงปัจจุบัน

 

 

ตลาดนมไทย มูลค่าสูงแค่ไหน!?

ตามข้อมูลพบว่า ตลาดรวมนมที่ดื่มและกินได้ ซึ่งไม่รวมของพริตตี้และนางแบบ มีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น

– นมพร้อมดื่ม UHT ประมาณ 20,000 ล้านบาท

– นมพาสเจอร์ไรส์ ประมาณ 17,000 ล้านบาท

– นมถั่วเหลือง ประมาณ 15,000 ล้านบาท (เติบโตเร็วมาก)

– นมประเภทอื่นๆ ประมาณ 8,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ น่าสนใจว่าคนไทยดื่มนมเฉลี่ยคนละ 18 ลิตร/ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าจีน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 ลิตร/ปี

แต่ยังเป็นตัวเลขที่น้อยหากเทียบกับสหภาพยุโรป ดื่มเฉลี่ยคนะ 59 ลิตร/ปี หรือสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขสูงถึงคนละ 81 ลิตร/ปี

 

 

รายได้ของ อ.ส.ค. และนมตราวัวแดง

หลังจากที่โดนนมต่างชาติเข้ามาตีตลาด จนเสียตำแหน่งแชมป์ไปให้อยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายนมไทย-เดนมาร์ก ก็สามารถกลับมาเป็นเจ้าตลาดได้อีกครั้ง

ปัจจุบันนมไทย-เดนมาร์ก มีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 45% ของตลาดนมพร้อมอื่ม UHT

 

หากไปมองที่รายได้ในแต่ละปีที่ผ่านมา

ปี 2557 ทำรายได้ 7,211 ล้านบาท

ปี 2558 ทำรายได้ 7,989 ล้านบาท เติบโต 10%

ปี 2559 ทำรายได้ 8,390 ล้านบาท เติบโต 5%

ปี 2560 ทำรายได้ 9,135 ล้านบาท เติบโต 8%

 

ขณะที่ตลาดนมไทยก็เติบโตเรื่อยๆ ปีละ 2-5% การทำนมไทย-เดนมาร์ก เป็นเจ้าตลาดและสามารถทำผลประกอบการเติบโตได้ดีกว่าตลาด

นั่นก็หมายถึงพวกเขาสามารถแย่งสวนแบ่งการตลาดจากอันดับอื่นๆ มาได้ด้วยนั่นเอง

 

ข้อมูลอื่นๆ ของนมไทย-เดนมาร์ก ที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้มาก่อน…

– อ.ส.ค. มีนมอยู่ในสังกัดทั่วประเทศทั้งสิ้น 114,539 ตัว

– นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายของเกษตรกร แบ่งเป็นผู้เลี้ยงโคนมสังกัด อ.ส.ค. 4,398 ราย และผู้ที่ทำการส่งนมวัวให้เป็นประจำ 3,492 ราย

– ปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบทั่วประเทศของ อ.ส.ค. อยู่ที่ 234 ล้านลิตร

– นอกจากเลี้ยงวัวและรับซื้อนมวัวแล้ว ยังมีบริการสัตวแพทย์ให้เกษตรกรทั่วประเทศด้วย รวมปีล่าสุดออกรักษาไป 62,000 ครั้ง

– แถมยังรับผสมเทียมให้กับวัวทั่วประเทศ ปีล่าสุดก็ส่งวัวไปปะด๊ะดั๊มกับวัวเกษตรกรไทย 47,000 ครั้ง

– ช่วงหลังมานี้เริ่มทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรควบคู่กับการขายนม มีคนมาเที่ยวปีละ 55,000 คน และอ.ส.ค. หวังจะส่งเสริมให้คนมาเที่ยวมากขึ้นเรื่อย

 

คาเฟ่ Milk Land ที่อำเภอมวกเหล็ก

ภาพ: ThaiTicketMajor

 

อ.ส.ค. รัฐวิสาหกิจที่สร้างกำไรให้กับประเทศ

แม้ อ.ส.ค. และนมไทย-เดนมาร์ก จะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากบริหารขาดทุน รัฐบาลก็จะนำเงินมาดูแลอุดหนุนอยู่ดี

แต่ตัวองค์กรเองก็ไม่ได้อยู่เฉย พยายามบริการจัดการแข่งกับเอกชน รักษาตำแหน่งแชมป์ของตลาดนมวัว แต่ก็ยังไม่ทิ้งบริการอื่นๆ แก่เกษตรกรไทย

แถมช่วงหลังยังพยายามขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อหารายได้เพิ่มเติม

 

นมไทย-เดนมาร์ก และ อ.ส.ค. จึงเป็นตัวอย่างของ “ธุรกิจที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง” พร้อมที่จะแข่งขัน แม้จะถูกล้มแชมป์ไปก็กลับไปปรับปรุงตัวเอง จนกลับมาขึ้นที่ 1 ได้อีกครั้ง

และด้วยสโลแกนติดหู “นมไทยแท้ 100% ไม่ผสมนมผง” ประโยคคลาสสิคที่ใช้มาหลายปี ก็ยังคงเป็นที่จดจำได้ดีนั่นเอง

 

ที่มา:

http://www.dpo.go.th/

http://www.thansettakij.com/content/129636

https://www.thairath.co.th/content/1116919

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...