Facebook
Twitter
LINE

เกิดดราม่าอะไรกันระหว่าง Supreme และ Samsung !?

เรื่องราวเริ่มต้นจาก Samsung ประกาศเปิดตัว Galaxy A8s ในประเทศจีน

มีการบอกบนเวทีว่า เวอร์ชั่นนี้จะพิเศษตรงที่ร่วมมือกับ Supreme ในการผลิตและทำตลาดเพื่อชาวจีนโดยเฉพาะ

เราต่างก็รู้กันว่าแบรนด์สตรีทแฟชั่นดังกล่าวมีชื่อเสียงดังมาก มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน

แถม Supreme ไม่ว่าจะไปจับกับแบรนด์ไหน ก็ทำให้สินค้านั้นขายดิบขายดี ชนิดที่ว่าผลิตมาเท่าไรก็ไม่พอ และทำให้ราคาเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า

เพราะฉะนั้นความร่วมมือครั้งนี้จึงกลายเป็นกระแสดังไปทั่วโลก

 

 

ภาพจากงานประกาศความร่วมมือระหว่าง Samsung x Supreme

 

จนกระทั่ง Supreme ในนิวยอร์ก ออกมาโต้ข่าวว่าไม่ได้มีความร่วมมืออะไรกับ Samsung เลย

และที่ค่ายมือถือจากเกาหลีไปจับมือทำสินค้าด้วยนั้น เป็นแบรนด์ปลอมซึ่งเป็น Supreme Italia จากประเทศอิตาลี อ่าว!?

เอาล่ะครับ ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง…

 

Supreme vs Supreme Italia

Supreme ถือกำเนิดในนิวยอร์กเมื่อปี 1994 ก่อนที่จะมาโด่งดังสุดขีดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตลอดเวลา 20 กว่าปี แบรนด์นี้ทำตลาดแบบด้วยแนวคิด “ไม่แคร์ใคร” มาโดยตลอด จึงได้รับความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามอย่างเหนียวแน่น

ปัจจุบันมีร้านค้า 11 สาขา อยู่ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และฝรั่งเศส

 

James Jebbia ผู้ก่อตั้ง Supreme

 

ส่วนในประเทศอิตาลี มีบริษัทหนึ่งตั้งชื่อ Supreme Italia ขึ้นมาเพื่อขายสินค้า Supreme เหมือนกัน โดยใช้โลโก้แบรนด์ที่เหมือนกับของทางอเมริกาเป๊ะๆ

สินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก น่าจะเพราะกระแสความนิยมของแบรนด์ดั้งเดิมจากในสหรัฐอเมริกามาช่วยผลักดันด้วย

บริษัทนี้จึงขยายสาขาออกไปทั่วประเทศ ลามไปถึงประเทศสเปนที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

 

เมื่อ Supreme นิวยอร์ก ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นดั้งเดิมทราบเรื่อง ก็เลยตัดสินใจฟ้องบริษัทในอิตาลี ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

หลังจากฟ้องร้องกันอยู่นานพอสมควร…

ศาลทางฝั่งอิตาลีเพิ่งมีการตัดสินออกมาเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา ให้ Supreme Italia สามารถขายต่อไปได้

งานนี้แม้จะสร้างความพ่ายแพ้แบบงงๆ ให้กับทั้ง Supreme นิวยอร์ก และชาวเน็ตที่ติดตามข่าว

แต่ Supreme Italia ก็ยังได้สิทธิ์ขายสินค้าในประเทศอิตาลีและสเปนต่อไป

รวมถึงการขายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) และแน่นอนว่ารวมถึงประเทศจีนด้วย

นั่นก็เพราะ Supreme จากนิวยอร์ก ยังไม่ได้มาจดทะเบียนแบรนด์และตั้งสาขาในประเทศจีนแต่อย่างใด

 

หน้าเว็บของ Supreme Spain ซึ่งเป็นเจ้าเดียวกับ Supreme Italia

 

ทีนี้ Samsung ว่ายังไง!?

เมื่อเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสทั่วโลกออนไลน์

ทางคุณ Leo Lau หัวหน้าฝ่ายออนไลน์มาร์เกตติ้ง ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลกับชาวเน็ตว่า

แบรนด์ Supreme ที่บริษัทจับมือด้วยนั้น เป็น Supreme Italia จริงๆ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ขายอย่างถูกต้องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในขณะที่แบรนด์ Supreme เวอร์ชั่นดั้งเดิมนิวยอร์กนั้น ไม่ได้รับสิทธิ์ขายในจีน

บริษัทจึงต้องไปจับมือกับ Supreme Italia แทนนั่นเอง

หลังจากนั้นไม่นาน คุณ Leo Lau ก็ลบโพสต์ดังกล่าวไป…

 

กรณีศึกษา Legal Fake

ประเด็นการฟ้องร้องของ Supreme และ Supreme Italia นั้น

ได้กลายมาเป็นกรณีศึกษาเรื่องการขายของปลอมแบบถูกกฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า Legal Fakeไปในทันที

เหตุเพราะว่าแบรนด์ดั้งเดิม ไม่ได้มาจดทะเบียนในประเทศอิตาลี

ทำให้เกิดช่องโหว่ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง Supreme Italia ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ได้รับการตัดสินจากศาลในประเทศเดียวกัน ให้สามารถขายสินค้าต่อไปได้

แม้เรื่องดังกล่าว อาจจะจะไม่ถูกใจทั้งแฟนคลับหลายๆ คน และชาวเน็ตที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอด

แต่พวกเขาก็ไม่สามารถขัดคำสั่งศาลที่ตัดสินคดีแล้วได้…

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแบรนด์แฟชั่น Supreme กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกซึ่งมีมูลค่าแบรนด์สูงถึง 30,000 ล้านบาท

และไม่ว่าจะผลิตสินค้าใหม่อะไรออกมา ก็ขายจนหมด แถมยังถูกนำไปขายต่อในราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิมไปอีก

กระทั่งก้อนอิฐที่วางขายด้วยราคา 1,000 บาท ถูกซื้อต่อไปขายในราคา 30,000 บาท สูงกว่าราคาเดิมถึง 30 เท่า!!

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายๆ แบรนด์ต่างก็อยากเข้ามามีส่วนร่วม ผลิตสินค้าร่วมกันกับทาง Supreme

เพราะอย่างน้อยก็การันตีว่าสินค้าล็อตนั้นคงจะไม่เจ๊ง และอาจจะขายได้ราคาดีกว่าเวอร์ชั่นธรรมดาอีกด้วย

 

บทเรียนจากข่าวดราม่าครั้งนี้ก็คือ “พลังของแบรนด์” และ “แฟนคลับ” มันเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมหาศาล

และธุรกิจเราเอง ก็ไม่ควรมองข้ามพลังที่ยิ่งใหญ่นี้โดยเด็ดขาด…!!

 

 

อ่านเพิ่มเติม:

กรณีศึกษา Supreme แฟชั่นมูลค่า 30,000 ล้าน กับแนวคิด “ไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อได้…”

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

hypebeast.com/2018/8/supreme-italy-counterfeit-case-fake-merchandise

en.wikipedia.org/wiki/Legal_fake

www.theverge.com/2018/12/10/18134390/samsung-supreme-brand-fake-china-legal

www.engadget.com/2018/12/10/samsung-china-supreme-italia/

www.supremespain.com/pagina/10-original-brand

en.wikipedia.org/wiki/Supreme_(brand)

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...