Facebook
Twitter
LINE

“พวกเขาคือกลุ่มเด็กหนุ่มอัจฉริยะ

ที่วันๆ ก็จะนั่งคลิกเมาส์ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์

และหาโอกาสทำกำไร โกยเงินจากทั่วทุกมุมโลก”

นี่คือคำพูดที่ Mugur Isarescu ผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศโรมาเนีย กล่าวยกย่องถึงทีมนักเทรดค่าเงินที่สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 8,400 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

พวกเขาคือใครกัน..!? เหตุใดจึงได้รับอนุญาตให้นำเงินทุนสำรองของประเทศ มาใช้ในการลงทุนได้!?

เราจะไปทำความรู้จักกันในบทความนี้ครับ…

 

 

ก่อนอื่น มารู้จักการเทรดค่าเงิน หรือที่เรียกว่า FOREX กันสักเล็กน้อย

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่าเป็นการเก็งกำไรจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลาต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น

ตอนนี้เงินดอลลาร์ราคา 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

คุณก็เอาเงิน 30 บาท ไปซื้อเงิน 1 ดอลลาร์มาตุนไว้

จู่ๆ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปเป็น 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ คุณก็ขายออก

จากต้นทุน 30 บาท ตอนนี้เราได้กำไรมา 2 บาทแล้ว

ซึ่งการเทรดค่าเงินก็ตั้งอยู่บนหลักการนี้ เพียงแต่ผ่านระบบที่ซับซ้อนขึ้น และที่สำคัญก็คือ.. สามารถเทรดผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้จากทั่วทุกมุมโลก

 

และนั่นก็นำมาซึ่งแนวคิดของธนาคารกลางโรมาเนีย ที่อยากจะทำกำไรในจุดนี้

ประเทศโรมาเนีย เป็นประเทศที่ก็ไม่ได้ร่ำรวยมาก ผู้คนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณเดือนละ 27,000 บาท

แม้จะมากกว่าประเทศไทย ที่มีประชากรมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 16,400 บาท

แต่หากเทียบกับชาติยักษ์ใหญ่ในยุโรป ตัวเลขของโรมาเนีย ก็ยังน้อยกว่าประเทศบิ๊กเบิ้มอย่างเยอรมนี อยู่ประมาณ 4 เท่า!!

 

ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของโรมาเนีย ก็อยู่อันดับที่ 47 ของโลก ด้วยตัวเลขประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

(เสริมความรู้: ประเทศไทย มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่อันดับ 12 ของโลก ที่ 6.3 ล้านล้านบาท)

แต่ธนาคารกลางโรมาเนีย ก็มองว่าพวกเขาควรจะหาโอกาสสร้างผลตอบแทน จากเงินทุนสำรองที่มีอยู่นี้

นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ทีมนักเทรดค่าเงิน”

ทีมดังกล่าว ประกอบไปด้วยเด็กหนุ่มคนรุ่นใหม่ระดับหัวกะทิ 30 คน ซึ่งตามข่าวก็ไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อ หรือยกย่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมา

การทำงานของทีมนี้ เป้าหมายคือใช้กองทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นต้นทุน สร้างกำไรจากการเทรดค่าเงินให้ได้มากที่สุด

ผลงานของพวกเขาที่ผ่านมา 2 ปี ก็ค่อนข้างทำให้ผู้ว่าการธนาคารกลางรู้สึกพึงพอใจ

ในปี 2017 พวกเขาสามารถทำกำไรประมาณ 1,400 ล้านบาท

ในปี 2018 พวกเขาสามารถทำกำไรประมาณ 8,400 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 6 เท่า!!

 

แน่นอนว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง… ยิ่งการเทรดค่าเงิน ก็ยิ่งมีความผันผวนและความเสี่ยงสูง

จากเงินทุนสำรองจำนวน 1.2 ล้านล้านบาทนั้น พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ไม่เกิน 5% ของเงินทุนสำรองเท่านั้น

ในจุดนี้ ทางผู้ว่าการธนาคารกลาง ให้ความเห็นว่าเพื่อเป็นการปกป้องตัวประเทศโรมาเนียเอง

หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดขึ้นมา คือเงินหายไปหมดทั้งกอง

ส่วนของเงินทุนสำรองของทั้งประเทศ ก็จะไม่หายวับไปกับตา ยังเหลืออยู่มากถึง 95% เลยทีเดียว

 

เท่ากับว่า เงินทุนของทีมเทรดค่าเงินหัวกะทิ จะมีอยู่ประมาณ 60,000 ล้านบาท

และการทำกำไร 8,400 ล้านบาท หากเทียบกับต้นทุนแล้ว ก็ยังคงสูงถึง 14% ซึ่งเป็นตัวเลขผลตอบแทนของการลงทุนที่ไม่น้อยเลย

ลองจินตนาการว่าพวกเขานำเงินกำไรจุดนี้ ไปทบกับเงินต้นเดิม และทำผลกำไรได้ในปีต่อๆ ไป ไม่ต้องถึงระดับ 14% แต่แค่รักษาไว้ประมาณ 10%

 

เวลาผ่านไป 1 ปี จากเงิน 68,400 ล้านบาท จะกลายเป็น 75,200 ล้านบาท

เวลาผ่านไป 5 ปี กำไร 10% ต่อปี จะกลายเป็นเงิน 110,000 ล้านบาท

เวลาผ่านไป 10 ปี จะกลายเป็นเงิน 177,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินทุนที่พวกเขาได้รับมาตอนแรกถึง 3 เท่า!!

 

อย่างไรก็ตาม ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าทีมนักเทรดค่าเงินจะคงอัตราการทำกำไรเช่นนี้ไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ

ทีมที่ผู้ว่าการธนาคารกลางโรมาเนียบอกว่าทั้ง 30 คนคือ “เด็กหนุ่มอัจฉริยะ” นั้น

จะสามารถทำกำไรให้กับประเทศของพวกเขาไปอีกเป็นระยะเวลา 10 ปีได้จริงหรือไม่ คงจะต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

 

แต่นั่นก็ทำให้เราได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า..

ในโลกของธุรกิจและการเงินนั้น โดยเฉพาะในยุคออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก

“โอกาส” มีอยู่รอบตัวเราเสมอ และ “เงินทอง” ก็ลอยอยู่รอบตัวเราเช่นกัน

อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นโอกาสนั้นก่อน ไปไล่ตามมันก่อน และคว้ามันไว้ได้ก่อนหรือไม่

มามองที่ตัวเราเอง ตอนนี้เรามองเห็นโอกาสอะไรหรือยัง เราเริ่มต้นวิ่งเข้าหามันหรือยัง เราได้ลองไปล้มลุกคลุกคลานกับมันรึเปล่า หรือเราปล่อยมันผ่านไปเฉยๆ

มีแต่ตัวเราเท่านั้นครับ ที่จะให้คำตอบได้…

 

 

เรียบเรียง ประณิธิ วงศ์คำจันทร์

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...