Facebook
Twitter
LINE

หลายคนน่าจะได้ทราบข่าวที่ Foxconn บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศว่าจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ และไทย

ซึ่งในส่วนของสหรัฐ อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจอะไรมากสำหรับเรา เพราะเดิมทีก็มีโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นของ Tesla, Ford, GM หรืออีกหลายๆ ค่าย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือในไทยนี่แหละครับ เพราะจะเป็นความร่วมมือกับ ปตท. บริษัทใหญ่ที่สุดของไทย

 

เรื่องนี้ทางเราทำคลิปสรุปเอาไว้ สามารถรับชมได้เลยครับ

 

ก่อนอื่น เรามารู้จัก Foxconn เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับสองของไต้หวัน บริษัทนี้มีชื่อเสียงอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนให้กับ iPhone และสมาร์ทโฟนอีกหลายๆ เจ้า

แต่พอช่วงหลังตลาดสมาร์ทโฟนเริ่มชะลอตัว โตปีละประมาณ 5-10% ประกอบกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว รายได้ตรงนี้โตถึงปีละ 40% ทาง Foxconn ก็เลยขยายธุรกิจมาทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

 

ตัดกลับมาที่ ปตท. หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่านี่คือบริษัทมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านบาท เป็นทั้งบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุด และบริษัทจดทะเบียนใหญ่ที่สุดของไทย

ปตท. มีบริษัทลูกที่ทำธุรกิจครอบคลุมด้านพลังงานแทบทุกอย่าง ทั้งสำรวจปิโตรเลียม โรงกลั่น ปิโตรเคมี บริหารปั๊มน้ำมัน ผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงประกันภัย

ซึ่งพอธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มเติบโต จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บริษัทพลังงานรายใหญ่ จะให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย

 

ล่าสุดในการแถลงถึงผลประกอบการของ Foxconn มีประกาศแผนงานในอนาคตของบริษัท ว่าจะมีการเปิดโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าใน “สหรัฐอเมริกา และ ไทย” ภายในปี 2022 นี้

โดยเฉพาะในไทย ซึ่งบริษัทก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่า โรงงานในไทย จะเป็นการร่วมมือกันกับ ปตท. คาดว่าหลังจากสร้างโรงงานปี 2022 แล้ว ก็จะพร้อมผลิตในปี 2023 เลย

โรงงานแห่งนี้ จะมีกำลังการผลิตแรกเริ่ม 150,000 – 200,000 คันต่อปี  เพื่อผลิตใช้งานในประเทศ ก่อนที่จะขยายสู่การขายในตลาดอาเซียนต่อไป

 

 

ถึงแม้ข่าวดังกล่าว จะไม่มีการยืนยันจากทาง ปตท. เอง ว่าจะเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย แต่ซึ่งข่าวดังกล่าว ก็ตรงกับข่าวที่ ปตท. เคยออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ปตท. และ Foxconn เรียบร้อยแล้ว

ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการศึกษาโอกาสในสร้างฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เพื่อผลักดันไทยให้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเก่า สู่เทคโนโลยียานยนต์ใหม่

โดยในเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกันราวๆ 30,000 – 60,000 ล้านบาท ก่อนที่จะขยายต่อไปในอนาคต

 

 

แล้วถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2019 ก็เคยมีข่าวว่าทาง ปตท. จับมือกับ WM Motors ค่ายสตาร์ทอัปรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ศึกษาเรื่องการทำรถยนต์ไฟฟ้าขายในแบรนด์ตัวเอง หรืออาจจะเป็นตัวแทนเพื่อผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย

แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก จนอาจจะมองได้ว่าเป็นการเก็บความรู้และข้อมูลของทาง ปตท. เสียมากกว่า

 

Weltmeister EX5

 

แต่หลังจากที่เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมาแรง โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 ก็ดูเหมือนว่าภาพของความพยายามเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของ ปตท. นั้น จะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะหลังช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา จะเห็นว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเก่า สู่อุตสาหกรรมแบบใหม่

นอกเหนือจากบริษัทแม่อย่าง ปตท. แล้ว เรามาดูข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวที่ออกมาครับ ว่าบริษัทลูกนั้นทำอะไรอยู่บ้าง?

 

ยกตัวอย่างเช่น

OR ซึ่งเข้าตลาดหุ้นมาได้ไม่นานนัก แต่หลังจากเข้าตลาดมา ก็เดินหน้าแผนงานที่น่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ เลย

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ที่มีข่าวว่ามีการปรับปรุงปั๊มน้ำมันเดิมนะครับ ให้สามารถใช้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ 30 แห่งแล้ว

น่าสนใจตรงที่ว่าในจำนวนนั้นเนี่ย เป็นสถานีชาร์จธรรมดา 25 แห่ง และเป็นสถานีชาร์จเร็วอีก 5 แห่ง ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน (Quick Charge) ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน

นอกจากนั้น ยังมีเป้าหมายที่ขยายเป็น 100 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2564 นี้นะครับ โดยเน้นหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัด

และจะขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่งภายในปี 2565 ซึ่งจุดนี้ทาง OR บอกว่าไม่ได้ยากเย็นอะไร เพราะใช้เงินลงทุน 1.5 – 2 ล้านบาทต่อสาขา

(ข้อมูลตัวเลขนี้ผมก็เอามาจากสื่อต่างๆ ที่ลงข่าวในการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารเองนะครับ)

ซึ่งสมมติว่าลงทุนเปิดขึ้นมา 300 สาขา เท่ากับลงทุน 600 ล้านบาท หรือคิดว่าถ้า OR จะทุ่มไปปรับปรุงเติมหัวชาร์จในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ 2,000 แห่ง ก็คือเงิน 4,000 – 5,000 ล้านบาท

พอเทียบกับรายได้ของบริษัทปีละกว่า 400,000 ล้านบาท ดูจะไม่ใช่เรื่องเกินจริง อยู่ที่ว่าจะทำเมื่อไรเท่านั้น

 

ภาพ: ThaiPublica

 

ข้ามมาที่ GPSC อีกหนึ่งบริษัทลูกของ ปตท. ซึ่งล่าสุดก็เปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบ Semi Solid แห่งใหม่ในจังหวัดระยองเป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งความน่าสนใจก็คือแบตเตอรี่ Semi Solid เนี่ย จะเหมือนเป็นการพัฒนาขึ้นมาจากแบต Li-on ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ จะทำให้มีขนาดเล็กกว่า เบากว่า แล้วก็สามารถชาร์จได้จำนวนครั้งที่มากกว่า

จริงๆ สิทธิบัตรของแบตตัวนี้ เป็นของบริษัท 24M ในสหรัฐอเมริกา แต่ทาง GPSC ก็ไปได้ไลเซนต์ในการผลิตและจำหน่ายมา

ทำให้ตอนนี้เนี่ย ไทยเราเป็นเจ้าแรกในอาเซียน ที่มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบ Semi Solid แล้วก็มีกำลังการผลิตประมาณ 30 MWh

แต่ในอนาคต ก็พร้อมที่จะขยายไปเป็นกำลังการผลิต 100 MWh และ 1 GWh ในอนาคตได้เช่นกัน

ถามว่ากำลังการผลิต 30 MWh เนี่ย มันมากแค่ไหน

ก็ในจุดนี้ทางสื่อรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติเค้าบอกว่าอัตราการผลิต 1 MWh สามารถผลิตเพียงพอต่อรถยนต์ไฟฟ้า 10 คันต่อปี

เพราะฉะนั้นกำลังการผลิตตรงนี้ก็จะพอซัพพลายได้ราวๆ 300 คันต่อปีเท่านั้น แต่ถ้าในอนาคตมีความต้องการใช้มากขึ้น ก็จะขยายโรงงานไปได้ระดับ 1 GWh หรือรองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 10,000 คันต่อปี

ถ้าเราไปเทียบกับโรงงานใหญ่อย่าง Gigafactory 1 ของ Tesla เนี่ย ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราวๆ 35 GWh มันก็คงยังไม่ใช่สเกลใหญ่ขนาดนั้น หรือต่างกันราวๆ 1,000 เท่า

แต่ถ้าเรามองว่าในประเทศที่การใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลาย และเป็นโรงงานแห่งแรกในอาเซียน ก็ดูน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

 

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของโรงงานผลิตที่ระบุว่าจะเปิดในปีหน้า และเริ่มผลิตได้จริงในปี 2023 นั้น ทาง ปตท. ยังไม่มีการเปิดเผยอะไรออกมา

เพราะฉะนั้น จนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เราก็ยังไม่มีสามารถยืนยันได้แน่นอน 100% ว่าโรงงานดังกล่าวจะเป็นการทำรถยนต์ไฟฟ้าในแบรนด์ของ ปตท. เอง

หรือจะเป็นโรงงานที่รับผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงรถทั้งคันให้กับเจ้าใหญ่รายอื่นๆ ในตลาดหรือไม่

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือการลงทุนของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ใน 2 ประเทศนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งที่น่าจับตามอง และอาจจะเป็นสัญญาณถึงจุดเปลี่ยนแปลงในวงการยานยนต์ของไทยด้วย ก็เป็นได้เช่นกัน..

 

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...