Facebook
Twitter
LINE

ในตลาดหุ้นไทยนั้น ประกอบด้วยธุรกิจต่างๆ นับพันบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีรูปแบบธุรกิจแตกต่างกันออกไป

จึงทำให้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการแบ่งหมวดหมู่ธุรกิจต่างๆ เพื่อให้สามารถค้นหา เปรียบเทียบ และจัดประเภทได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจธนาคาร หรือธุรกิจอาหาร

แต่มีอยู่หมวดหนึ่งที่น่าสนใจและมีจำนวนหุ้นอยู่เพียง 4 บริษัทเท่านั้น ก็คือหมวด PROF ซึ่งย่อมาจาก Professional Service หรือธุรกิจบริการพิเศษ

ยกตัวอย่างธุรกิจที่ถูกจัดเป็นบริการพิเศษก็เช่น ธุรกิจจัดการขยะ ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ และธุรกิจเอาท์ซอร์สพนักงาน

ซึ่งอย่างหลังนี่แหละครับ เป็นข้อมูลน่าสนใจที่ว่า มีบริษัทหนึ่งในประเทศไทยซึ่งทำธุรกิจเอาท์ซอร์สเป็นหลัก และเป็นบริษัทเดียวในตลาดหุ้นที่ทำธุรกิจนี้ด้วย

บริษัทที่ว่านั้นคือที่ไหน เราจะพาไปรู้จักให้มากยิ่งขึ้นครับ..

 

รู้จักธุรกิจเอาท์ซอร์สหนึ่งเดียวในตลาดหุ้นไทย

บริษัท สยามราชธานี ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 โดยเริ่มจากธุรกิจการเกษตร และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคก่อนในยุคนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 เมื่อมีการเติบโตของธุรกิจการจ้างงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์การแข่งขันทางธุรกิจ ที่หน่วยงานต่างๆ พยายามลดค่าใช้จ่าย ลดภาระงาน และประหยัดต้นทุน

เริ่มมีการจ้างงานแบบเหมาบริการภายนอก (Outsourcing Services) มากยิ่งขึ้น ทั้งพนักงานขับรถ งานช่างซ่อมบำรุง งานพนักงานสำนักงาน

ธุรกิจสยามราชธานีจึงเติบโตขึ้น มีลูกค้าใช้บริการมากยิ่งขึ้น สร้างรายได้จนกลายเป็นธุรกิจเอาท์ซอร์สอันดับต้นของประเทศไทย

และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมาในชื่อหุ้น SO

 

พูดถึงชื่อบริษัทและชื่อหุ้น หลายคนอาจจะสับสน แต่ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO นั้น เป็นคนละธุรกิจกับ บริษัท สยามราช จำกัด (มหาชน) หรือ SR นะครับ

เรามารู้จักรายได้หลักๆ ของธุรกิจ SO กันก่อนนะครับ ในปีล่าสุด ธุรกิจมีรายได้ประมาณ 2,067 ล้านบาท และทำกำไรได้อยู่ที่ 139 ล้านบาท

โดยบริษัทมีรายได้มาจาก 2 ช่องทางหลักได้แก่

1. ธุรกิจให้บริการจัดหาบุคลากร คิดเป็นสัดส่วน 88%

โดยเป็นการจัดหาบุคลากร ได้แก่ พนักงานขับรถ พนักงานออฟฟิศ ช่างเทคนิค หรืองานดูแลสถานที่ ให้กับทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชน

2. ธุรกิจให้เช่าและบริการ คิดเป็นสัดส่วน 12%

ธุรกิจให้เช่าทั้งรถส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ รถหกล้อ ทั้งรถเปล่าและคนขับ รวมไปถึงการเช่าพื้นที่สำนักงานอีกด้วย

 

อะไรที่ทำให้ SO โดดเด่นกว่าธุรกิจเจ้าอื่น?

สิ่งหนึ่งที่ทำให้รายได้ของธุรกิจเอาท์ซอร์สอย่าง SO เติบโตขึ้น ก็คือเทรนด์การลดภาระขององค์กรใหญ่ๆ ในช่วงหลัง
หลายตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานประจำของบริษัทเอง ก็สามารถจ้างเหมาบริษัทอื่นให้มารับงานแทน ซึ่ง SO ก็มาตอบโจทย์ในเทรนด์นี้พอดี

และเมื่อบริษัทจ้างเอาท์ซอร์สแล้ว หากใช้งานได้ดี ไม่ได้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นเป็นพิเศษ ก็มักจะใช้บริการเอาท์ซอร์สเจ้าเดิมต่อไป ทำให้รายได้ของธุรกิจอยู่ตัว และเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

อีกส่วนหนึ่งก็คือการพยายามสร้างความจดจำให้กับลูกค้า โดยการสร้างแบรนด์ของธุรกิจบริการต่างๆ ขึ้นมาให้สามารถเข้าใจและเรียกใช้บริการได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น

SO People สำหรับการบริหารจัดการพนักงาน ทั้ง พนักงานขับรถยนต์ พนักงานสำนักงานพนักงานช่างเทคนิค

SO Next สำหรับการบริหารจัดการงานบันทึกข้อมูล

SO Green สำหรับบริการดูแลภูมิทัศน์

และ SO Wheel สำหรับบริการรถยนต์ให้เช่า เป็นต้น

 

 

แล้ว SO มีโอกาสเติบโตในอนาคตอีกหรือไม่?

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดจากโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ก็คือบริษัทจะพยายามขยับเข้าสู่การทำงานในรูปแบบแนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) มากยิ่งขึ้น

ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการพยายามปรับเปลี่ยนจากรูปแบบวัฒนธรรมการทำงานเดิมๆ มาสู่การตัดสิ่งไม่จำเป็น ลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พนักงานที่มี สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย

รวมไปถึงการพิจารณาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Contingent Workforce) การจ้างหน่วยงานภายนอก (Outsource) รวมไปถึงจ้างอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น

ซึ่งแม้จะยังคงต้องให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับพนักงานประจำ และข้อด้อยที่อาจจะไม่สามารถปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรได้มากเท่ากับพนักงานประจำ

แต่ข้อได้เปรียบของการจ้างเอาท์ซอร์สนั้น ก็คือการที่บริษัทยุคใหม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า และนำมาซึ่งเป้าหมายสำคัญของทุกธุรกิจนั่นก็คือ “กำไร” ที่มากที่สุดนั่นเอง

ซึ่งนั่นก็ส่งผลมาถึงกำไรในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีกำไรราวๆ 39 ล้านบาท เพิ่มมาจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราวๆ 16% แม้รายได้หลักจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

เพราะเริ่มใช้แนวคิด Lean อย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งช่วยเร่งทุกอย่างให้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในยุคที่มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี หรือ Digital Tranformation ทางบริษัทเองก็มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ และระบบของตัวเองขึ้นมาใช้งาน เพื่อความรวดเร็วและตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น

 

ยกตัวอย่างระบบที่เป็นเอกลักษณ์เองของทาง SO ก็ได้แก่…

i-Recruit เป็นระบบการจัดเก็บประวัติของพนักงานที่สามารถส่งให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

TikTrack เป็นระบบลงเวลาเข้า-ออกงาน ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานได้ง่ายและสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงเวลาได้แบบเรียลไทม์

Digidocs หรือ Flow เป็นระบบบริหารจัดการเอกสารออนไลน์ด้วยฟังก์ชันการทำงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการทำงานเอกสารได้อย่างครบถ้วน

Carpool เป็นระบบบริหารจัดการรถยนต์ส่วนกลางสำหรับองค์กรที่ช่วยบริหารจัดการรถยนต์ พนักงานขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งการปรับตัวให้เป็นบริษัทที่ก้าวนำเทคโนโลยี ก็จะสอดคล้องกับ Mega Trend ของธุรกิจที่น่าลงทุนในยุคอนาคต
ที่จะต้องเป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีมานำ และพร้อมเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) ไปเป็นธุรกิจในภาคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ให้ได้สำเร็จ

จากที่เราจะได้เห็นว่าเมื่อบริษัทเทคโนโลยีสามารถก้าวนำไปก่อนได้ ก็จะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Google รวมไปถึง Facebook ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันหุ้น SO ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ค่า P/E (ราคาหุ้นต่อกำไร) อยู่ที่ประมาณ 27 เท่า ในขณะที่รายได้ย้อนหลังและผลกำไรของบริษัทนั้นเติบโตขึ้นทุกปี

และอาจจะเติบโตขึ้นได้อีกในอนาคต เมื่อเทรนด์ของการเอาท์ซอร์สนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นได้..

 

 

*ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจเท่านั้น มิได้ให้คำแนะนำในการเสนอซื้อหรือขาย หรือส่งเสริมให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเองก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง​

แสดงความคิดเห็น...