Facebook
Twitter
LINE

มีคำกล่าวอย่างหนึ่งว่า “ข้อมูล” นั้นมีค่าประดุจ “ทองคำ”

เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ ใครที่เข้าถึงข้อมูลมากกว่า ย่อมกุมความได้เปรียบที่มากกว่าในทุกการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านธุรกิจ หรือการลงทุนก็ตาม

คนที่มีข้อมูลมากกว่า จะมองเห็นโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ นำหน้าคนอื่น

คนที่เข้าถึงข้อมูลมากกว่า ย่อมมีทางเลือกในการลงทุน รวมถึงโอกาสในการสร้างกำไรที่มากกว่าด้วยเช่นกัน

 

 

เพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น จะลองยกตัวอย่างว่า เราเป็นนักลงทุน ที่กำลังจะตัดสินใจเอาเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ถ้าเราไม่มีข้อมูลอะไรเลย เท่ากับว่าเรากำลังโยนเงินนั้นลงไปแบบสุ่ม ให้กับสภาวะตลาดและหุ้นที่เราไม่รู้จักเกี่ยวกับมัน

แต่หากเรามีข้อมูล “สถิติสำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” แล้วนำมาแจกแจงเพื่อเปรียบเทียบในแต่ละปี เราจะพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า

ปี 2560 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1753.71 จุด มีค่า P/E อยู่ที่ 19.06 เท่า

ปี 2561 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1563.88 จุด มีค่า P/E อยู่ที่ 14.75 เท่า

ปี 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1579.84 จุด มีค่า P/E อยู่ที่ 19.40 เท่า

และปัจจุบันกลางปี 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1328.53 จุด มีค่า P/E อยู่ที่ 19.06 เท่า

เพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นตรงนี้ ก็จะช่วยให้เราเห็นภาพของตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาได้ชัดขึ้น

แม้ดัชนี้ตลาดหุ้นปัจจุบัน จะตกลงมาเกือบ 25% แต่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิของหุ้น ก็ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ประมาณ 19 เท่า เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2560

นอกจากนี้ อัตราส่วน P/E ดังกล่าวเคยลดลงไปในปี 2561 ซึ่งลดลงไปเหลือเพียง 14 เท่ากว่าๆ แสดงว่าในตอนนั้นตลาดอาจจะกลัวอะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายก็กลับมายืนในจุดเดิมในปีถัดมา

เช่นเดียวกับในเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E ลดลงไปเหลือเพียง 13 เท่า จากความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดังนั้น สำหรับคนที่มีข้อมูลด้านการลงทุนอยู่ในหัว ก็อาจจะมองว่านี่จะเป็นโอกาสอันดีในการเข้าซื้อหุ้นราคาถูก แล้วก็แบ่งเงินส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในช่วงตลาดตกลงอย่างหนักได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การลดลงของ P/E นั้น เกิดขึ้นได้ 2 รูปแบบ คือ…

แบบที่ 1. P หรือราคาต่อหุ้น ลดลงจากปัจจัยลบของตลาด ในขณะที่ E หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทคงที่

ยกตัวอย่างเช่น การคาดการณ์อนาคตของตลาดทุนของนักลงทุนปรับตัวลดลง หรือ ความกังวลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ก็อาจจะส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง ทั้งที่ความสามารถในการทำกำไรเท่าเดิม

และแบบที่ 2. E หรือ กำไรสุทธิต่อหุ้นสูงขึ้น ในขณะที่ราคายังคงที่

ซึ่งอย่างหลังนี้ อาจมาจากปัจจัยด้านบวกจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเอง

 

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลประกอบด้านอื่น ๆ ก่อนการลงทุน

เช่น การศึกษา Turnover Ratio หรือสภาพคล่องของหลักทรัพย์

การศึกษา Return on Asset หรือ ความสามารถในการทำกำไรเมื่อเทียบกับทรัพย์สินของบริษัท

การศึกษา Return on Equity หรือ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่จะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจของบริษัท

ทั้งนี้ P/E ratio จะเป็นตัวบ่งชี้หรือประมาณการณ์จุดคุ้มทุนของการลงทุน

พูดง่ายๆ ว่าการซื้อหลักทรัพย์ที่มี P/E เท่ากับ 13 เท่า นั้นนักลงทุนจะต้องรอ 13 ปี ก่อนจะถึงจุดคุ้มทุน

 

และถ้านำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบกับข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องของข้อมูลแต่ละธุรกิจ กลไกลการเงินของโลก นโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ

ก็จะช่วยให้เราพอจะคาดการณ์ และจับจุดการลงทุนได้ดีขึ้นมากกว่าเพียงแค่การโยนเงินลงไปแบบไม่รู้ทิศทางอะไรเลย

 

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของประโยชน์ส่วนหนึ่ง จากเว็บไซต์ศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐ เท่านั้น

เพราะนอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุนแล้ว ยังมีข้อมูลในด้านต่างๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น..

ในด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลแผนที่ศักยภาพน้ำบาดาล ข้อมูลการบริโภคน้ำมันเป็นรายจังหวัด

ในด้านการคมนาคม เช่น ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน สถิติการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์

ในด้านการเกษตร เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าภาคการเกษตร ข้อมูลการรับซื้อสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่างๆ

รวมถึงข้อมูลด้านอื่นๆ อย่าง กฎหมาย วิทยาศาสตร์ สวัสดิการ ชุมชน หรือกระทั่งข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐ

ซึ่งเรานั่นสามารถใช้ข้อมูลในด้านต่างๆ มาวางแผนงานในอนาคต แผนธุรกิจ หรือกำหนดการเข้าลงทุนในส่วนต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลต่างๆ จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการขาดทุนของเราลงไป และเพิ่มโอกาสในการเอาตัวรอดจนได้กำไรได้มากกว่าเดิม

 

 

นอกจากนี้ สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลในด้านอื่นด้านใด แต่ทางเว็บไซต์แห่งนี้ยังไม่มีข้อมูลระบุไว้ ก็สามารถให้ข้อเสนอแนะ หรือขอชุดข้อมูลเพิ่มเติมเป็นพิเศษได้อีกด้วย

เมื่อส่งคำขอไป สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เจ้าของแพลตฟอร์มนี้ ก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานเพื่อขอชุดข้อมูลในด้านต่างๆ

เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยนั้น ได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบไฟล์ข้อมูล การแสดงผลเป็นรูปภาพ หรือ API แบบอัตโนมัติ ให้นำไปใช้งานได้นั่นเอง

 

 

สุดท้ายนี้ ศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้มีความร่วมมือของหน่วยงานรัฐหลายๆ ฝ่าย

โดยการร่วมมือครั้งนี้ มีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหลัก และเป็นศูนย์กลางให้หน่วยงานอื่นๆ ได้แชร์ข้อมูลมายังแพลตฟอร์มนี้

ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนอย่างเราๆ ที่สามารถมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูล-สถิติต่างๆ ของภาครัฐที่มากกว่าเดิม เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อเข้าไปเท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ที่ https://bit.ly/2CFq4hm

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...