Facebook
Twitter
LINE

ย้อนไปในช่วงปลายปีก่อน จนถึงต้นปีนี้ จะเป็นช่วงเวลาอัน “หอมหวาน” สำหรับนักลงทุนหุ้นจีนหลายๆ คน

เพราะตลาดหุ้นที่วิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง กองทุนจีนบางกองสร้างผลตอบแทนระดับ +50% กันได้อย่างง่ายดาย

แต่พอผ่านพ้นเดือนมีนาคมไป ความหวานนั้น กลับเปลี่ยนเป็นความขมในฉับพลัน ถึงขั้นที่กำไรซึ่งเคยได้มา หายวับไปในไม่กี่เดือน…

 

ก่อนอื่น เรามามองที่ผลตอบแทนของดัชนีหุ้นจีนที่สำคัญ จากจุดสูงสุดของปีมาจนถึงตอนนี้ แต่ละดัชนีเป็นอย่างไรบ้าง

– ดัชนี CIS 300 ลดลงจากจุดสูงสุดของปี -16%

– ดัชนี Hang Seng ลดลงจากจุดสูงสุดของปี -16%

– ดัชนี SZSE ลดลงจากจุดสูงสุดของปี -10%

 

 

ยิ่งถ้ามองไปยังหุ้นรายตัว สำหรับนักลงทุนที่ทุ่มหมดหน้าตักไปยังหุ้นเทคโนโลยี คงต้องมีอาการมือไม้สั่นกันบ้างเพราะดูจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าใครเพื่อน

ไม่ว่าจะเป็น…

– Alibaba ที่เกิดวิกฤติกับผู้ก่อตั้ง จนถึงปัจจุบันก็ยังคงไม่สามารถนำบริษัทลูก Ant Financial เข้าตลาดหุ้นได้เลย ราคาลดลงไป -35%

– Tencent ราคาลดลงไป -42% ล่าสุดถูกสั่งหยุดควบรวมกิจการเว็บไซต์สตรีมเกม Huya และ DouYu

– การสั่งแบนแอป Didi เพราะไม่อยากให้ข้อมูลของผู้ใช้งานจีนหลุดไปยังฝั่งสหรัฐฯ ราคาลดไป -48%

– ตามมาด้วยการปรับนโยบายกับบริษัทกวดวิชาออนไลน์ จนราคาหุ้นบางบริษัทตกไป 95% เลยทีเดียว

 

เราจะไม่พูดถึงสาเหตุหลัก เพราะคิดว่าหลายคนทราบกันดี ว่าคือการที่รัฐบาลจีน เข้ามาควบคุมธุรกิจต่างๆ ในตลาดหุ้นมากขึ้น

ทั้งการป้องกันการผูกขาด การเก็บข้อมูลผู้ใช้ หรือการตั้งใจชะลอการเติบโต จัดการโครงสร้างทางการเงิน และการก่อหนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาทางภาคการเงินลุกลามจนควบคุมไม่ไหว

ตัวอย่างราคาหุ้นที่ตกลงหนัก เป็นเพียงผลกระทบของรายใหญ่ไม่กี่รายอย่างชัดเจนเท่านั้น

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบริษัทเล็กอื่นๆ และความมั่นใจของนักลงทุนที่ลดลง ก็ส่งเสียงสะท้อนออกมาในรูปแบบของสภาพตลาดหุ้นในปัจจุบัน

 

ราคาหุ้น TAL ไหลลงราวกับตกจากหน้าผาสูง

 

ใน “วิกฤติ” ย่อมมี “โอกาส” อยู่เสมอ.. จริงเหรอ?

สำหรับหลายๆ คน การที่ตลาดหุ้นตกลงอย่างหนัก คือจังหวะสำคัญในการเข้าซื้อหุ้นที่ดี ในราคาที่ถูกลงกว่าปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน ประเทศที่สามารถจัดการวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นประเทศแรกๆ และกำลังเริ่มฟื้นตัวได้เร็วกว่าใคร กระทั่งที่ว่าการปิดประเทศ ก็แทบไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย

ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแล้ว บริษัทที่มีคุณภาพในจีนก็น่าจะสร้างรายได้และกำไร เพิ่มขึ้นไปได้อย่างไม่ยาก

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ “ความกลัว” ของนักลงทุน ที่ไม่รู้ว่าจู่ๆ รัฐบาลจีนจะกำหนดนโยบายใหม่อะไรออกมา และส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทที่เคยทำได้ดี กลับต้องหยุดชะงักลง

ซึ่งตราบใดที่ความกลัวเหล่านี้ยังไม่หมดไป หรือไม่ทุเลาลง ตลาดหุ้นจีนก็อาจจะซึมๆ ไปอีกสักระยะ จนกระทั่งคลื่นลมสงบพอให้นักลงทุนมั่นใจขึ้นอีกครั้ง

คำพูดที่ยกมาว่าในวิกฤตินั้นมีโอกาส ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าโอกาสนั้นมาถึงหรือยัง หรือจะเจอวิกฤติที่หนักกว่านี้รออยู่ข้างหน้า

เพราะฉะนั้นคำถามสำคัญที่สุดก็คือ.. วิกฤติครั้งนี้จะลากยาวไปถึงเมื่อไร? ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบได้เช่นกัน..

 

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งเดียว ที่นโยบายของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อบริษัทเอกชนในตลาดหุ้น ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างในปี 2015 และปี 2018

ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำนั้นถูกต้องหรือไม่

มุมหนึ่งก็มองได้ว่า  การแทรกแซงที่มากจนเกินไป จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้การแซงหน้าสหรัฐฯ ก้าวสู่ประเทศเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของโลก เป็นไปได้อย่างล่าช้าและติดขัดกว่าเดิม

ส่วนอีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า สุดท้ายแล้วนโยบายที่รัฐบาลจีนออกมา ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจีนเองในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามทำอยู่นั่นเอง…

 

ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ  รู้หรือไม่ว่าใน 10 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีน ปี 2021 นี้ มีเพียง 2 บริษัทที่ยังให้ผลตอบแทนหุ้นเป็นบวก

บริษัทแรกคือ China Merchant Bank ธนาคารยักษ์ใหญ่ในจีน ที่กำลังโตต่อไปแบบไม่หวือหวานัก แต่มีผลกำไรเพิ่มขึ้นติดต่อกันทุกปี มากกว่า 10 ปีแล้ว

และอีกบริษัทคือ CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก ซึ่งกำลังเติบโตไปกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า และตอนนี้ตลาดหุ้นก็กำลังให้ความเชื่อมั่นที่สูงมาก ด้วยค่า P/E มากกว่า 160 เท่าอีกด้วย

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...