Facebook
Twitter
LINE

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 16 ล้านล้านบาท ถูกจัดอยู่ประมาณอันดับ 25 ของโลก

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 30.1 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ถ้าให้ย้อนกลับไปตอนที่เงินบาทแข็งกว่านี้ ก็คือตอนที่อัตราแลกเปลี่ยน 28.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนั่นเกิดในปี 2013 หรือราวๆ 6 ปีที่แล้ว

อะไรทำให้เงินบาทแข็งค่าได้ขนาดนี้!? และจะมีผลดีหรือผลเสียอะไรตามมา!? เราลองมาศึกษาไปพร้อมกันครับ..

 

สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่า…

ที่จริงเรื่องของสาเหตุ เราไม่สามารถฟันธง 100% ได้เลยว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะแน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่ประกอบกัน

จากการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก มองว่าปัจจัยหลักสำหรับนักลงทุนต่างชาติแล้ว เงินบาทไทยยังถือว่าเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคง ความผันผวนต่ำ เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

ซึ่งนั่นอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการถือครองและเข้ามาลงทุน

 

ปัจจัยถัดมาคือเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กำลังเป็นประเด็น ยิ่งผลักดันให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในทั้งสองสกุลเงิน และเข้าถือครองสกุลเงินขนาดเล็กที่คาดเดาได้ง่ายกว่า

 

ถัดมาคือจังหวะของการขายทองคำไปยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนเก็งกำไรราคาทองคำในไทยเอาไว้ และเมื่อราคาขึ้นก็ทยอยขายออกทำกำไรในต่างประเทศ

สัดส่วนเงินขายทองคำที่ไหลเข้ามานี้ ทางธนาคารแห่งประเทศประเมินไว้สูงถึง 120,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

อีกปัจจัยที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ ก็คือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงถึงอันดับ 12 ของโลก

(นั่นอาจจะเป็นบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ไทยดำเนินนโยบายทุนสำรองระดับประเทศในระดับสูงมาโดยตลอด)

 

เงินบาทแข็ง ก็เป็นข้อดีสิ!?

เมื่อเงินบาทแข็งค่า แสดงว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้นงั้นหรือ? คำตอบจากนักวิเคราะห์ก็คือ.. ไม่เสมอไป

เงินบาทที่ดึงดูดนักลงทุน ก็เป็นตัวชี้วัดถึงความน่าสนใจของประเทศและสกุลเงิน แต่ไม่สามารถวัดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจนำเข้า ที่จะมีต้นทุนถูกลง

หรือกระทั่งคนธรรมดาที่อยากไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเรียนต่อต่างแดน ก็มีต้นทุนที่ถูกลงเล็กน้อย

 

แต่.. ทำไมเงินบาทแข็งถึงน่ากังวลล่ะ!?

นั่นเพราะรายได้หลักของประเทศไทย ยังคงต้องพึ่งพาทั้ง “การส่งออก” และ “การท่องเที่ยว” เป็นสำคัญ

เรื่องของภาคการส่งออก เราก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าเงินบาทแข็ง ทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าลดน้อยลง

เราอาจจะมองว่าขึ้นลง 2-3 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องใหญ่

แต่ในภาคธุรกิจจากเดิมขายไป 1 ล้านดอลลาร์ ได้ 32 ล้านบาท

ปัจจุบันขาย 1 ล้านดอลลาร์ เหลือรายรับเพียง 30 ล้านบาท

ซึ่งบางครั้ง 2 ล้านที่หายไป อาจจะเป็นความอยู่รอดของบริษัทนั้นเลยก็เป็นได้…

 

วกมาที่ภาคการท่องเที่ยว ที่มีส่วนสำคัญถึง 20% ของ GDP

สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบโดยตรง

เงินบาทที่แพงขึ้น จะทำให้นักท่องเที่ยวอาจจะเลือกเดินทางไปที่อื่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า

และทำให้ยอดนักท่องเที่ยวในปีนี้ไม่ถึง 40 ล้านคน

 

นั่นทำให้โดยรวมแล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2019 จะเติบโตขึ้นเพียง 3.0%

โดยจะเป็นการเติบโตที่ลดลงจากเคยทำได้ 4.1% ในปี 2018 ที่ผ่านมา

 

 

เงินบาทจะแข็งถึงเมื่อไร!? แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร!?

ทางนักวิเคราะห์มองว่า การพยายามลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย จาก 1.75% เหลือ 1.5% ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา นั้นก็มาได้ถูกทาง

การลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน แต่อาจจะช่วยหยุดการแข็งค่าของเงินบาทได้ไม่มากนักในระยะยาว

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่าจะผ่อนคลายกฎเคลื่อนย้ายเงินทุนขาออก เพื่อให้เงินไหลออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนเรื่องที่ว่าเงินบาทจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป

ในจุดนี้บลูมเบิร์กได้ทำแบบสอบถามสถาบันวิเคราะห์ต่างๆ 24 สถาบัน และพบว่า..

ส่วนใหญ่มองว่าเงินบาทเราจะไม่ไปแข็งขึ้น จนต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2013

ซึ่งประมาณกันว่ามาตรการต่างๆ ของไทย และปัจจัยในต่างประเทศ จะทำให้เงินบาทค่อยๆ อ่อนตัวไปที่ 30.8 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ภายในปีนี้

แล้วปีนี้หน้า เราอาจจะได้เห็นแตะที่ 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ อีกครั้ง

 

และนี่ก็คือเรื่องราวน่าสนใจ ที่ผมสรุปจากสื่อต่างๆ ในโอกาสที่ “เงินบาท” แข็งค่าเสียจนทั้งไทยและต่างชาติหลายฝ่ายจับตามอง

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกคนไม่มากก็น้อย

คิดเห็นอย่างไร ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในคอมเมนต์ได้เช่นเคยนะครับ…

 

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 16 ล้านล้านบาท ถูกจัดอยู่ประมาณอันดับ 25 ของโลกขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ประมาณ…

โพสต์โดย Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน เมื่อ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2019

 

 

ติดตาม Billion Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionmindset.ig/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/Billion_Twit

– ติดตามเพจ Billion Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...